ทำอย่างไรเราจะร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีชีวิตได้ นโยบายที่ส่งผลต่อเราตั้งแต่ลมหายใจ จนถึงบันทึกความทรงจำ
คำถามส่งท้ายในช่วงสรุปบทเรียนจาก ‘มหาลัยเถื่อน’ พื้นที่การเรียนรู้ หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาไม่รับรอง ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คำถามต่อผู้เข้าร่วมว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา มหา’ลัยแห่งนี้ได้เขย่า ขยับ เขยื้อน สังคมไปมากน้อยเพียงใด
เขย่า-ขยับ-เขยื้อน สามขั้นตอนจากทฤษฎี ‘จรณศิลป์’ ที่ตั้ม ‘ตั้ม’ – วรพจน์ โอสถาพิรัตน์ ได้ถอดบทเรียนประสบการณ์สิบกว่าปีจากโครงการ ‘พื้นที่นี้…ดีจัง’ ขบวนการที่ผนวกเทศะ (space) และกาละ (time) ผสานการทำงานร่วมกันทั้งราษฎร์และรัฐจนกลายเป็นการขับเคลื่อนสังคมผ่านพื้นที่อย่างสร้างสรรค์
‘จรณศิลป์’ ทฤษฎีที่ว่าด้วยพลังการใช้ศิลปะเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ผ่านการสื่อสารเพื่อเขย่าจุดร่วม (active communication) สร้างสรรค์เพื่อขยับจุดคลิก (creative activity) และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเขยื้อนจุดตัด (collective action) ที่เปลี่ยนกิจกรรมสังคมไม่ให้เป็นเพียงเทศกาลในช่วงเวลาพิเศษที่เกิดขึ้นแล้วจบไป ให้กลายเป็นความปกติที่เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยใครก็ได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นประโยชน์และความหมายในการทำสิ่งนั้นร่วมกัน
“เราไม่ได้มองว่าเรากำลังหาอำนาจร่วม เรามองว่านี่คือการสร้างประโยชน์ร่วมกัน เมื่อมีประโยชน์ทุกคนก็อยากมีส่วนร่วมเอง เมื่อประเด็นไหนได้รับความสนใจจากสังคมแล้ว ใครๆ ก็อยากเข้ามาร่วมเอง”
‘มล’ – จิราวรรณ คำซาว จากกลุ่ม ‘ม่วนใจ๋ เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว’3 กล่าวถึงนิยามใหม่ต่อคำว่า ‘อำนาจร่วม’ ที่ใครต่างใช้กันมานาน จนเกือบจะงัดซีกงัดซุงกันผิดคาน พาลคิดกันไปว่าเรากำลังขับเคลื่อนให้ได้มาซึ่งอำนาจ จนเกือบลืมไปว่าแท้ที่จริงนั้นคือ ‘ประโยชน์ร่วม’ ต่างหากที่เราปรารถนา
การช่วงชิงวาทกรรม ทำความเข้าใจต่อชุดความคิดเดิมด้วยมุมมองใหม่ ให้การปรับนิยาม แปรเปลี่ยนความหมาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีชีวิต ที่เราต่างสามารถเป็นผู้ร่วมจุดไฟให้ติดเองได้
‘ภัณฑารักษ์กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม’ (Curator of Social Movement) หนึ่งบทบาทที่ ‘ตั้ม วรพจน์’ กล่าวไว้ว่ามีความสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ ‘ภัณฑารักษ์’ บทบาทที่ผู้คนคุ้นเคยในพิพิธภัณฑ์ ผู้เลือกสรรชิ้นงาน สร้างความหมายใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะมาจากฐานคิดเดิม ต้นตอบ่อเกิดของปัญหานั้นไม่ได้
‘ตั้ม วรพจน์’ ยกตัวอย่าง ‘Sun-Self Hotel’ โรงแรมเก็บตะวันในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่นที่ใช้งานศิลปะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้มาเยือน-ชุมชน-สิ่งแวดล้อม
แต่เอาเข้าจริงแล้วตัวอย่างภาคปฏิบัติของทฤษฎี ‘จรณศิลป์’ ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพียงดูแค่ในพื้นที่เชียงดาว ที่ตั้งของมหาลัยเถื่อน ผ่านกลุ่ม ‘ม่วนใจ๋ เกษตรอินทรีย์วิถีเชียงดาว’ ที่เผยให้เห็นการปฏิบัติจริงของทฤษฎีจรณศิลป์ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นสื่อสารกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เล่าเรื่อง ‘น้ำออกฮู’ ลำธารตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ แหล่งน้ำสร้างชีวิตในป่าชุมชน เขย่าความหมายคำว่า ‘ถิ่น’ ให้สัมพันธ์กับชีวิตผู้คนจนเกิดความรู้สึกผูกพัน รัก และอยากดูแลโดยไม่ต้องมีเรียกร้องตั้งข้อแม้ใดๆ ไปจนถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ทั้งเครื่องสำอางจากไขผึ้งป่า พระพุทธรูปทำจากผ้า กาแฟไวน์ ฯลฯ และอีกหลายสินค้าที่ไม่ได้มีเพียงมูลค่า แต่ยังมีคุณค่าทางความรู้สึก สร้างความภูมิใจในท้องถิ่น เป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอยากขยับกลับไปหาคุณค่าในท้องถิ่นตนเอง
และในวันนั้นเอง วันที่ชุมชนถูกเขย่าใจ จนขยับด้วยตนเอง คานงัดจะค่อยๆ ถูกเขยื้อนเอง โดยไม่ต้องเรียกร้องขออำนาจ ขอความร่วมมือ เมื่อใครต่างเห็นว่าการมีส่วนร่วมนี้นั้นคือประโยชน์ที่เราพึงมีร่วมกัน
ในวันนั้นเองที่ความสว่างจากเมืองเชียงดาวจะฉายแสงนำทาง ‘ถิ่นนิยม’ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นต่อไป ขยายผลจากอำเภอสู่จังหวัด ไปสู่ระดับประเทศโดยไม่ต้องรออำนาจให้กระจายจากเบื้องบนไหน
- ให้ชีวิตนำเศรษฐกิจ
- ให้การเรียนรู้แทนการศึกษา
- ให้คำว่า ‘ถิ่น’ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยคุณค่า
- ให้ภัณฑารักษ์สามัญชน เป็นผู้กำหนดวาระทางสังคม นิยามความหมายวาทกรรมใหม่ ออกแบบนโยบายสาธารณะได้ด้วยตนเอง
เนื้อหาต้นฉบับจาก a day bulletin