ในโลกของการศึกษา ที่ใครต่อใครมองว่าล้มเหลว ชวนหมดหวัง ยังมีพื้นที่การเรียนรู้กลางทุ่งนาชื่อว่า “มะขามป้อม ART SPACE” ที่บ่มเพาะความรู้มาต่อเนื่องยาวนานกว่าสี่สิบปี 

จากมูลนิธิสื่อชาวบ้านในวันนั้น ก้าวขึ้นมาเป็น “โรงเรียนวิทยากร “มหา’ลัยเถื่อน” “ก่อการครู” ในวันนี้ พื้นที่การเรียนรู้ที่บ่มเพาะผู้เรียนจากหลายวงการมายาวนาน จนเกิดปรากฏการณ์ผู้คนแห่ล้นมาสมัครเรียนในพื้นที่โล่งกว้างกลางทุ่งนา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จนหลายคอร์สถูกจองเต็มภายในหนึ่งวัน

ปรากฏการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไม “มะขามป้อม” จุดพลังให้ผู้เรียน เปลี่ยนการเรียนให้เป็นเรื่องสนุก ปลุกสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น แก่นแท้ของการศึกษาในการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร

GM ชวนถอดบทเรียนกับ “ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร” อธิการบดีมหา’ลัยเถื่อน (ตำแหน่งเพื่อนร่วมก่อการแต่งตั้งให้)

“มหาลัย’เถื่อน” ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่เจ็ด เราเชื่อยังไงเราก็ทำแบบนั้นเลย เราจัดกันที่นี่ อันดับแรกเลย space มันสำคัญ ทั้งธรรมชาติ การไม่มีรั้วต่างๆ อันที่สองคือความสัมพันธ์แบบระนาบ คือไม่ต้องเป็นด็อกเตอร์เป็นอะไร ถึงจะสอนได้ แต่ทุกคนเป็นตัวจริงของเขา เขาอาจจะเป็นเด็กก็ได้แต่เขาเป็นตัวจริงในสิ่งที่เขาทำ ระบบมันหลอกให้เราเชื่อว่าเราต้องจบอะไรมา มีความรู้บางอย่างถึงจะสอนได้ แต่ในพื้นที่และความสัมพันธ์แบบนี้มันไม่ได้จำเป็น”

“แล้วมันก็ multidisciplinary เวลาสายหัว วิทยาศาสตร์มาเรียนละคร คือเขาต้องการขยายฐานตัวเอง มนุษย์มันต้องไม่เป็นทางเดียว มันต้องประกอบด้วยหลายๆสาย ทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นอย่างอื่นได้ เราไม่ต้องเป็นอย่างที่เขาบอกมา มันไม่ได้มีคำตอบเดียวเสมอไป”

“Generation ก็เปลี่ยนไปเรื่อย มะขามป้อมเหมือนแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของเด็กธรรมดาทั่วไป พี่ก็เป็นเด็กเมืองคนหนึ่งที่เข้ามา ในรุ่นพี่ก็มีคนเติบโตไปแต่ละทางของแต่ละคน มันเหมือนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่ช่วยบ่มเพาะทำให้เราเห็นว่าเรามีศักยภาพอะไรและเติบโตไปในทางของเราได้”

“ความเป็นออร์แกนิกของมันทำให้คนที่นี่มักจะอยู่นาน มันมีความเป็นครอบครัว มันไม่ใช่องค์กรที่ทำงานอย่างเดียว มันเป็น learning organization มันขึ้นๆลงๆ ตามวัฏจักรของมัน มีคนเข้ามีคนออก มีคนอยู่มีคนไป มันมีพลวัตตลอดเวลา มันไม่มีสูตรสำเร็จอะไรด้วย มันพร้อมจะล้มกระดาน ล้มโครงสร้างคิดใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถึงวันหนึ่งพี่จะออกไปก็ได้ มันก็ยังไปต่อได้”

“สมาชิกทุกคนมีความสนใจร่วมกันคือการเรียนรู้ มันเป็นจุดร่วมกันของวงศิลปิน นักละคร นักการศึกษา และผู้ทำงานทางสังคม จุดร่วมตรงการเรื่องการเรียนรู้มันเป็นส่วนผสมของทั้งสามเรื่องที่อยู่ด้วยกัน มันจะไม่ใช่งานศิลปะอย่างเดียว หรือเป็นองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น หรือเป็นองค์กรการศึกษา พอมันเป็นส่วนผสมของสามวงมันจึงไปลากคนที่ไกลจากแต่ละวงเข้ามาเจอกันได้”

“มันเป็นวัฒนธรรมองค์กร ส่วนตัวเราแต่ละคนไม่ได้มีใครเก่ง เชี่ยวชาญอะไรมาก่อน เรามาสร้างตัวเองกันที่นี่ แล้วทุกวันนี้ก็ไม่มีใครคิดว่าตัวเองเก่ง ต้องเรียนรู้ ต้อง relearn พร้อมจะทิ้งอยู่ทุกวัน มันก็เลยมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตรงนี้ จากการที่ไม่มีใครคิดว่าใครเก่งกว่าใคร เราเหมือนเป็ด ที่เรารู้ตัวว่าเรายังไม่เก่ง เราต้องเรียนรู้มากขึ้นอีก เราถึงจะเก่งขึ้นได้ มันจะต่างจากองค์กรที่เขาเชี่ยวชาญอะไรบางอย่าง เราไม่มีใครเป็นแบบนั้น เราเป็นเหมือนคนชายขอบ แต่พอเรามารวมตัวกันมันได้แสดงศักยภาพบางอย่างของการรวมตัว”

“หมอ อาจารย์ที่มาเรียนที่นี่เขาช็อคมากเลยนะ เราพยายามสร้างที่นี่ให้เป็นกันเอง ไม่สบายเกินไป เหมือนมาค่าย ต้องนั่งรถสองแถวมา ล้างชามเอง นอนรวมกัน ผู้จัดการเดี๋ยวก็มาทำอาหาร ทำเสร็จมาเล่นละครตอนกลางคืน คนนึงมีหลายบทบาท มันไม่ใช่ว่าคุณเป็นศิลปินแล้วต้องเป็นตลอดเวลา คือมันก็อยู่ในชีวิตคุณนั่นแหละ แต่นอกจากนั้นคุณก็ทำอาหาร กวาดพื้น ล้างส้วมได้ คือเขาไม่เคยเห็นวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ มันทำให้เขาเห็นอะไรบางอย่างว่าแบบที่เคยเชื่อมันอาจจะไม่ใช่รูปแบบเดียว มันทำให้เห็นว่าโลกของเขามันมีการแบ่งแยกเฉพาะด้านมากเกินไป”

“เราใช้คำว่า transformative learning เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะเราเองก็ค่อยๆ transform ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา เราก็พาเขาไปทำ ไปลอง แล้วมาสะท้อนร่วมกัน มาเรียนรู้ร่วมกันว่าประสบการณ์ที่เจอมันมีความหมายว่าอะไร ตั้งแต่ setting ทางกายภาพที่มันสำคัญ ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ในตึกอาคารเรียน ที่นี่ไม่มีเลย มันเปิด พลังของการอยู่ใกล้ธรรมชาติมันสำคัญ เขาไม่เคยเจอเลย บางทีไปเรียนที่ร้านกาแฟ ตกเย็นจิบเบียร์นั่งคุย มันสบาย ทำไมมหาวิทยาลัยมันมีบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้”

“พื้นที่มันสำคัญมากเลย พอใจมันเปิด เซนส์เปิด หัวใจมันได้ทำงาน มันไม่ใช่แค่บนหัวนี่ (ชี้ไปที่หัว) มะขามป้อมเริ่มจากการทำละคร มันก็จะใช้ความรู้สึกร่วมมาก ที่ผ่านมาเราไม่เคยถูกฝึก เราถูกฝึกแค่ให้ประมวลสิ่งที่คนสอนบอกเรามา มัน passive มาก แต่ที่นี่จะพาเราทำ ใช้ร่างกายคิด แล้วถามว่ารู้สึกอย่างไร บางคนตอบไม่ได้นะ เขาไม่เคยถูกถามว่าตอนนี้รู้สึกอะไรอยู่ ราวกับว่าทั้งชีวิตไม่เคยถูกทำให้รู้สึก มาถึงพี่ก็จะไม่ให้ทำอะไรมาก ให้เขา tune in กับสถานที่ก่อน ให้อยู่เฉยๆ สองชั่วโมง มันยากมากสำหรับบางคน รู้สึกเสียเวลา ต้องหาอะไรทำตลอด การกลับมาอยู่ปัจจุบัน รู้สึกกับตัวเองและรอบข้างมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน”

“คุณจะเรียนอยู่ในพื้นที่แบบเดิมก็ได้ แต่คุณต้องพาตัวเองไปสนใจผู้อื่น ออกนอกโลกตัวเองบ้าง ในห้องเรียน ในรั้วมหาวิทยาลัย คุณไม่เคยต้องเห็นคนเก็บจาน คุณไม่เคยเห็นป้าแม่บ้านที่ทำความสะอาด คุณไม่เคยเห็นเพราะไม่เคยถูกทำให้เห็น ไม่เคยถูกทำให้มีตาให้เห็น แต่เขาเป็นมนุษย์หนึ่งคนเลยนะ แต่เรามัวแต่อยู่กับชนชั้นเรา อภิสิทธิ์ของเรา แต่มาแบบนี้มันก็พาเขาไปเปิดตาให้เขาได้เห็น”

“Transform จึงหมายความว่าให้เขามี head และ heart ใหม่ๆ หลักๆ มันก็เรื่อง learning skills ในการรับรู้ มองเห็นโลก มีทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ได้เรื่อยๆต่อไป ทักษะการฟัง การทำความเข้าใจกับข้อมูล ถ้าพูดง่ายๆมันก็เป็นทักษะของศตวรรษที่ 21 มีอารมณ์ความรู้สึก เซนส์พวกนี้มันสำคัญมาก เพราะมันนำไปสู่ empathy การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถ้าคุณมีตรงนี้แล้วคุณก็จะไม่มองใครต่ำกว่าว่าใครเป็นแรงงาน เป็นชาติพันธุ์ เป็นคนจน แต่คุณจะเริ่มเห็นอกเห็นใจ ตั้งคำถามว่าเขามีชีวิตลำบากเพราะไม่ขยัน ไม่ฉลาด หรือเป็นเพราะโครงสร้างสังคมบางอย่าง เป็นมุมที่เขาไม่เคยถูกพาให้คิด ไม่ใช่ว่าเขาผิดนะ แต่วิธีการแบบเดิมมันสอนว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา แต่ประสบการณ์พวกนี้มันจะทำให้เขามีมุมมองต่อโลกใหม่ ประสบการณ์พวกนี้จะ transform ให้เขาไม่เป็นคนเดิมอีกต่อไป เปลี่ยน holistic เปลี่ยนทั้งหมดเลย”

“โดยทฤษฎีมันคือการพาผู้เรียนไปเจอประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอ การมาที่นี่คือประสบการณ์ใหม่ แล้วมาหาความหมายของสิ่งที่เจออยู่ ตั้งแต่การล้างจานเอง ที่มันทำให้คุณเสมอภาค ไม่ว่าคุณจะเป็นใครจากไหนมาที่นี่คุณต้องล้างจานเอง นี่คือความหมายของการล้างจานเอง ไม่ใช่แค่การล้างจาน แต่คือความเท่าเทียม หรือการนั่งเป็นวงที่เท่ากันนี่คืออะไร คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวระนาบ ไม่ใช่มีคนเก้าอี้ วิทยากรยืนข้างหน้า นี่คือความหมายของประสบการณ์ มันก็จะมีความหมายอยู่ในทุกๆกิจกรรมการเรียนรู้”

“นี่คือคำถามหลักของมหาลัยเถื่อน เราเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงมันรื่นรมย์ คนที่มาที่นี่ต้องจ่ายเงินเอง เดินทางมาเอง ทุกคนจะตั้งใจ มาตรงเวลา บอกให้เลิกไม่เลิก ถอดบทเรียนกันไม่หลับไม่นอน ไม่มีคะแนนให้ด้วยนะ ทำไมเราสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบนี้ในที่อื่นไม่ได้ ทำไมต้องใส่เครื่องแบบ เอาคะแนนมาล่อ เป็นคำถามใหญ่ เพราะจริงๆแล้วการเรียนรู้เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องสนุก มีชีวิตชีวา เราเป็นมนุษย์ ใครเรียนรู้ก็แฮปปี้ เพราะมันเบ่งบาน มันเก่งขึ้น ถ้ามันทรมานแสดงว่ามันผิด”

“ในช่วงแรกพี่ก็พยายามจะให้เขาเปลี่ยนในระบบ แต่พอทำไปมันไม่ขยับก็เปลี่ยนมาทำของเรา ทำเล็กๆแบบนี้ ทำแบบที่เราเชื่อ ทำอย่างต่อเนื่องแล้วเดี๋ยวเขาจะเข้ามาหาเราเอง ซึ่งก็เป็นตามนั้นจริงๆ พี่ไม่เคยไปบอกให้เปลี่ยนคณะนู้น คณะนี้ ทำแบบนั้น แบบนี้ เราทำแบบนั้นไม่ได้เลยเพราะว่ากระบวนทัศน์ ฐานคิดมันคนละแบบกัน มันก็จะปรับแค่วิธีการเล็กๆน้อยๆซึ่งมันไม่ตอบหรอก มันก็จะกลับไปสู่จุดเดิม”

“ทางเดียวที่พี่เห็นคือการ disrupt ทำให้ระบบเดิมล้ม ล่มสลาย จึงจะเกิดสิ่งใหม่ จริงๆตอนนี้มันล่มแล้วด้วย เราเริ่มเห็นมากขึ้นว่าคนไปเรียนในระบบน้อยลง ความต้องการมันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเป็นรูปธรรม มันระเนระนาด ประเด็นคือไม่มีใครคิดหาทางใหม่เอาไว้เลย สร้างแพลตฟอร์มใหม่รอไว้ก่อนวันที่มันจะล่มสลาย อันนี้คือการหาทางออกใหม่ร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่าเราทำคนเดียวนะ เพื่อนๆหลายคนก็พยายามสร้างสิ่งนี้อยู่ คุยกันว่าเราจะสร้างพื้นที่ใหม่แบบนี้ร่วมกันได้อย่างไร”

“Lifelong learning มันเป็นมนุษย์มาก ลึกๆ แล้วทุกคนอยากเรียนรู้ พี่เห็นมิตินี้เยอะในช่วงหลัง เมื่อก่อนมีค่านิยมว่าเรียนจบแล้ว ทำงาน ตอนนี้พี่รู้สึกว่าทุกคนสนใจเรียน มีคอร์สอะไรเกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการพัฒนาตนเองให้ไม่ตกยุค ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่มีในสมัยก่อน ผู้ใหญ่รู้สึกว่าทำงานแล้วลอยตัว แต่ตอนนี้ไปเรียน การเรียนมันคือการทำให้ตัวเองเท่าทันการเปลี่ยนแปลง”

“คนแก่บางคนอาจเก็บความอยากวาดรูปไว้ตลอดชีวิต แต่เพิ่งมาได้ลองเรียนตอนหกสิบ เพราะมีหน้าที่ต้องทำมากมาย จนถึงวันหนึ่งที่วางหน้าที่ไปทำในสิ่งที่สนใจได้ แต่ถ้าเราสามารถแสดงออก หรือเรียนสิ่งที่เราสนใจได้แต่แรก มันน่าจะดีถ้ามันมีการเรียนรู้แบบนี้เยอะๆ มันจะมี dynamic ของมัน ประชากรก็มีคุณภาพมากขึ้นเมื่อมีความสามารถ ทักษะมากขึ้น แทนที่จะอยู่เฉยๆ ไปช้อปปิ้ง ฯลฯ อันนี้พูดในระดับสังคม”

“คือถ้าพูดถึงการศึกษาเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เราก็เชื่อนะ มันยกระดับจิตวิญญาณมนุษย์ แต่สิ่งที่ผ่านมามันไม่ได้ทำหน้าที่นั้น มันเพื่อตัวเราเองนี่แหละ ตอนนี้พี่สงสารเด็กที่ต้องไปโรงเรียน เสียเวลา เสียเงินมาก ค่าเดินทางวันนึงมันแพงมาก เสียเวลา เสียเงิน ไม่ได้อะไรเลยกับสิบห้าปีในชีวิต ถ้ามันถูกใช้ไปในทางถูกต้อง ไม่รู้มันจะพัฒนาไปถึงไหนกับทุนเดิม เวลาเดิมไปใช้อีกวิธีนึง ที่มันมีประโยชน์ เป็นความต้องการเขาจริงๆ มันจะไปได้ขนาดไหน”

“แต่มันไม่มีใครสร้างธรรมาภิบาลให้กับคนที่ต้องรับผิดชอบ กระทรวงศึกษาธิการใช้เงินล้มเหลวไปเรื่อยๆทุกปี มันผิดปกติมากเลย”

“พี่เห็นความหวังในคนที่มาเข้าร่วม คือคนที่ทำเขาไม่ได้มาหาเทคนิค เขามีความหวังไกลๆ บางอย่างที่เขาอยากเปลี่ยนด้วยตนเอง ครูตัวเล็กๆ ที่มาจากระบบที่เลวร้ายมาก แต่เขาก็ยังมีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มาเรียนรู้ร่วมกันแล้วกลับไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในที่ของเขาด้วยศรัทธา พี่เห็นพลังงานนี้ มันเป็นความหวังที่ไม่มีหวังด้วยนะ ในสภาพสังคมที่เห็นกันอยู่ แต่ถ้ายิ่งเป็นแบบนี้เรายิ่งต้องมีหวังรึเปล่า ไม่งั้นเราคงไม่ต้องทำอะไรเลย”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสาร GM ฉบับเดือน ธันวาคม 2562
ต้นฉบับเนื้อหาจาก GM Live

Message us