ณ หมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งเวลาเดินไปอย่างเนิบช้า สิ่งที่เราทำตลอดทริปเถื่อนทัวร์ถอดรหัสหมายเลข 7 คือ การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ชวนคนเมืองเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ที่ บ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดย มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และ วงกลมเจอร์นี่ – เพียงแค่นั่งเล่น เดินสวน ป่ายปีนเก็บผลไม้ เคล้าไปกับการดมและจิบกาแฟ จังหวะชีวิตที่แม้ดูเหมือนไม่เอาการเอางานอะไรเลย แต่อาจเพราะธรรมชาติตรงหน้าทำให้ตาและใจเราเปิดกว้างขวางมากขึ้น

“คอนเซ็ปต์ของเถื่อนทัวร์ คือการพาคนเมืองมารู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คนเมืองที่อาจเคยรับข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เราเรียนมาว่าชนเผ่าตัดไม้ทำลายป่า อยากให้ได้มาเห็น รู้จัก ได้ปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ได้เห็นความจริง และได้เป็นเพื่อนซึ่งกัน อาจทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์กับมนุษย์’ บางอย่างที่คนเมืองไม่รู้ก็จะได้เรียนรู้จากคนชาติพันธุ์ซึ่งมีองค์ความรู้หลายอย่างที่คนเมืองบางคนอาจยังไม่เข้าใจ”

“การมาเรียนรู้บริบทที่เขาเป็นอยู่ แนวคิด หรือวิถีชีวิตเกี่ยวกับป่า เราจะเห็นภาพจริง เห็นจากการกระทำโดยไม่ต้องพูดเยอะ แต่เรามองด้วยตารับรู้ความรู้สึกตรงนั้น” หมวย-ญาดา เกรียงไกรวุฒิกุล จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้ริเริ่มทริปเถื่อนทัวร์กล่าวต้อนรับ

กระนั้น นวล-พาฝัน ศุภวานิช ผู้ร่วมจัดทริปจากสำนักพิมพ์วงกลม เสริม ก็อยากให้ทริปนี้เป็นการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ด้วยเช่นกัน

“เมื่อบรรยากาศรื่นรมย์ มันก็เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เราพร้อมเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสิ่งนั้นอาจเคยเป็นขั้วตรงข้ามกับที่เราเคยคิดมาก่อน ท่าทีที่เป็นมิตรจะไม่ force ให้เราต้องเชื่อโดยทันที ความรื่นรมย์ ก็หมายความว่าเรากำลังสุขนั่นแหละ ความรื่นรมย์ ความเป็นมิตร การได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ทั้งหมดนี้ทำให้เรากล้าพูดความแตกต่างกันได้”

ความรื่นรมย์ที่ว่ามาพร้อม ‘เสน่ห์’ และ ‘บทสนทนา’ ที่คละเคล้าไปตลอดการทำกิจกรรมตั้งแต่ อาหาร, งานฝีมือ, การเดินป่าเพื่อไป ‘เขย่งตัวปีนป่ายเก็บบ๊วย’, จิบกาแฟปลูกเอง เก็บเอง คั่วเอง โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ ทั้งหมดที้ทำให้เรา ‘ว้าว’ ได้แบบที่ทำให้นำเรื่องกลับไปคุยต่อได้ว่าเจออะไรที่คนอื่นไม่เคยเจอ

แต่ตลอดทริป เรายังสงสัยว่าพี่น้องปกาเกอะญอใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายแค่ ทำ กิน แบ่งปัน พึ่งพาธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็รักษาผืนป่าต้นน้ำไปพร้อมกันได้อย่างไร ปรับตัวอย่างไรในโลกที่เมืองต้องการและใช้ทรัพยากรมากมายเช่นทุกวันนี้?

‘มิซาโตะ’ อะไรๆ ก็ตำกินได้

‘มิซา’ แปลว่า พริก ‘โตะ’ แปลว่า ตำ พืชผักทุกอย่างล้วนตำเป็นน้ำพริกได้ ทุกมื้อเราจะได้กินน้ำพริกผัก หรือ มิซาโตะ ฝืมือแม่บ้านปกาเกอะญอ น้ำพริกหลากหลายแตกต่างวัตถุดิบที่ชุมชนปลูกเองและเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละวัน เช่น พริกหยวก มะเขือ ขนุนอ่อน มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งผักดอง ข่า และถั่วเน่า นำมาปรุงเคล้าให้เข้ากัน

แรกเริ่มเราแปลกใจที่ทุกมื้อเรียกน้ำพริกว่า ‘มิซาโตะ’ แม้ว่าหน้าตาจะเปลี่ยนไปทุกมื้อ แต่ไม่ว่าหน้าตาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็กินจนหมดชามทุกมื้อ มิซาโตะมีรสชาติหลักเหมือนๆ กัน คือ ‘พริก’ ที่ให้รสเผ็ด ‘เกลือ’ ให้รสเค็ม และ ‘กระเทียม’ ให้รสกลมกล่อม

แน่นอน เมื่อกินกับผักเครื่องเคียงที่พี่น้องปลูกเองจากสวน เช่น มะเขือเทศ ยอดฟักแม้ว ผักกาดขาว น้ำพริกคลุกข้าวแล้วรสชาติช่างเข้ากัน เพราะมิซาโตะทำให้เราฝากท้องไว้กับรสชาตินี้หลายมื้อ ‘น้ำพริกชนเผ่า’ จึงเป็นเมนูที่ประทับใจของพวกเราทุกคน

ดื่มด่ำผ้าปักลูกเดือย

งานฝีมือของแม่บ้านนอกจากงานครัวแล้ว งานผ้าที่อวดตัวอย่างประณีตของหญิงชาวปกาเกอะญอ ทำให้พวกเราตาลุกไปทั้งทริป เมล็ดลูกเดือยสีขาว รูปทรงกลม และรูปทรงรี เม็ดเล็กเจาะรูตรงกลาง เมื่อมาวางเรียงกันจะได้ลายดอกสวยงามมาก ความสร้างสรรค์ของลายผ้าจัดวางได้หลายรูปแบบ ยิ่งสร้างสรรค์ งานยิ่งต้องละเอียด

นอกจากตาลุกวาวเพราะความประณีตแล้ว เราต้องเรียนรู้การปักผ้าจากการลงมือทำจริง พี่ๆ แม่บ้านสอนการปักพร้อมหยิบเสื้อตัวงามให้เราดูเป็นตัวอย่าง แน่นอนว่างานประณีตต้องใช้เวลาและการออกแบบ แม้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยแต่พวกเราได้ทำชิ้นงานปักลูกเดือยบนผ้าเล็กๆ หนึ่งผืน ออกแบบตามความชอบของแต่ละคน

ผ้าเล็กๆ หนึ่งผืนกับเวลาครึ่งวัน มาพร้อมกับเสียงหัวเราะจากลายปักที่โย้เย้ บ้างก็เงียบเพราะต้องใช้สมาธิสูง การปักจริง แก้ปัญหาจริง ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความงามที่กว่าแม่บ้านชาวปกาเกอะญอแต่ละคนจะทอและปักจนได้เสื้อ 1 ตัวจะใช้เวลากี่เดือนกัน?

พี่สาวบอกเราว่า วันหนึ่งๆ จะปักดอกแบบนี้ได้ 5 ดอก งานละเอียดมาก ลูกเดือยเรียงไขว้กันเป็นระเบียบ แตกลายออกไปทางนี้ทางนั้นต้องใช้เวลา

นี่คือคุณค่าของความช้าแต่งดงามที่งานผ้าสำเร็จรูปไม่อาจให้ได้ ยิ่งงานทำมือ ทำด้วยตัวเองแล้ว เราจะเข้าใจคุณค่าของความงามมากกว่าผืนผ้าอื่นใด

Lazy Man College กับวิชาขี้เกียจที่เปิดสอนทุกวัน

ในวงสนทนายามบ่ายเมื่อเดินทางมาถึงบ้าน โอชิ-ชินดนัย จ่อวาลู ที่โอบล้อมด้วยขุนเขาแม่วาง ป้าย Lazy Man College ทำให้เรารู้ว่าที่นี่ต้องเป็น ‘พื้นที่’ ที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้

“โอชิครับ โอ แปลว่าเกลือ ชิ แปลว่าน้ำ แม่คลอดผมในน้ำ ผมก็เลยเชื่อว่าการได้อยู่ใกล้ๆ ดิน น่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะกับผมที่สุด” โอชิแนะนำตัว

โอชิ คนรุ่นใหม่ บอกเราว่า “หมู่บ้านหนองเต่าอายุประมาณ 300 ปี อายุมากกว่ากรุงเทพฯ แก่กว่าอเมริกา หมู่บ้านนี้มีประมาณ 120 ครัวเรือน ประชากร 600 คน เด็ก 100 คน มีวัวประมาณ 1,000 ตัว ควาย 1,000 ตัว ไก่ 1,000 ตัว ยุง 2 ล้านตัว” มุกของเขาทำให้เราอมยิ้มน้อยๆ ก่อนจะเล่าต่อ

“ป่าตรงนี้ พื้นที่หมู่บ้านของเรา 8,000 ไร่ 4,000 ไร่เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งชุมชนตั้งใจที่จะเก็บไว้ ไม่ให้ใครไปแตะต้อง ป่าที่เหลือจากตรงนี้ก็เป็นป่าใช้สอย เวลาจะสร้างบ้านก็ไปตัดเอา แต่วิธีการสร้างบ้าน ไม่ใช่ว่าตัดปีหนึ่งให้ครบสำหรับใช้ทำบ้านหนึ่งหลัง แต่เขาจะค่อยๆ อยู่ 5-6 ปี เพื่อสร้างบ้านหลังหนึ่ง”

นั่นทำให้เรารู้จักบ้านหนองเต่าและเห็นความสำคัญว่าป่าไม้ แม้มีมาก แต่การจัดการทรัพยากรให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่ใช้และทำลายมากเกินไปก็สามารถทำได้ เรื่องเล่าของโอชิทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่าพี่น้องปกาเกอะญอสืบทอดแนวคิดการจัดการคนเพื่ออยู่กับป่าอย่างไร?

ท่ามกลางวงสนทนาที่ดำเนินไปอย่างเนิบช้าพร้อมกับลมที่พัดเอื่อยๆ โอชิเล่าต่อว่า บทสนทนาของคนปกาเกอะญอจะเกิดขึ้นระหว่างทำอาหาร ระหว่างทำงานปักผ้า ระหว่างกล่อมลูก และในรอบปีจะมี ‘วงสนทนารอบกองไฟ’ ซึ่งในระหว่างพิธีกรรม คนเฒ่าจะเล่านิทานหรือเรื่องเล่า แนวคิดถึงวิถีชีวิตของพวกเขาก็จะซ่อนตัวอยู่ในเรื่องเล่า เช่น คนกล้า เด็กกำพร้า คนขี้เกียจ ตัวละครเหล่านี้สอนให้คนปกาเกอะญอใส่ใจพี่น้องทุกคนแม้กระทั่งคนด้อยโอกาส

โอชิ คนรุ่นใหม่ บอกเราว่า “หมู่บ้านหนองเต่าอายุประมาณ 300 ปี อายุมากกว่ากรุงเทพฯ แก่กว่าอเมริกา หมู่บ้านนี้มีประมาณ 120 ครัวเรือน ประชากร 600 คน เด็ก 100 คน มีวัวประมาณ 1,000 ตัว ควาย 1,000 ตัว ไก่ 1,000 ตัว ยุง 2 ล้านตัว” มุกของเขาทำให้เราอมยิ้มน้อยๆ ก่อนจะเล่าต่อ

“ป่าตรงนี้ พื้นที่หมู่บ้านของเรา 8,000 ไร่ 4,000 ไร่เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งชุมชนตั้งใจที่จะเก็บไว้ ไม่ให้ใครไปแตะต้อง ป่าที่เหลือจากตรงนี้ก็เป็นป่าใช้สอย เวลาจะสร้างบ้านก็ไปตัดเอา แต่วิธีการสร้างบ้าน ไม่ใช่ว่าตัดปีหนึ่งให้ครบสำหรับใช้ทำบ้านหนึ่งหลัง แต่เขาจะค่อยๆ อยู่ 5-6 ปี เพื่อสร้างบ้านหลังหนึ่ง”

นั่นทำให้เรารู้จักบ้านหนองเต่าและเห็นความสำคัญว่าป่าไม้ แม้มีมาก แต่การจัดการทรัพยากรให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่ใช้และทำลายมากเกินไปก็สามารถทำได้ เรื่องเล่าของโอชิทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่าพี่น้องปกาเกอะญอสืบทอดแนวคิดการจัดการคนเพื่ออยู่กับป่าอย่างไร?

ท่ามกลางวงสนทนาที่ดำเนินไปอย่างเนิบช้าพร้อมกับลมที่พัดเอื่อยๆ โอชิเล่าต่อว่า บทสนทนาของคนปกาเกอะญอจะเกิดขึ้นระหว่างทำอาหาร ระหว่างทำงานปักผ้า ระหว่างกล่อมลูก และในรอบปีจะมี ‘วงสนทนารอบกองไฟ’ ซึ่งในระหว่างพิธีกรรม คนเฒ่าจะเล่านิทานหรือเรื่องเล่า แนวคิดถึงวิถีชีวิตของพวกเขาก็จะซ่อนตัวอยู่ในเรื่องเล่า เช่น คนกล้า เด็กกำพร้า คนขี้เกียจ ตัวละครเหล่านี้สอนให้คนปกาเกอะญอใส่ใจพี่น้องทุกคนแม้กระทั่งคนด้อยโอกาส

พะตีพะซาลอย เจ้าของสวนบ๊วยธรรมชาติ เล่าว่าเขาได้รับมรดกสวนบ๊วยมาจากรุ่นพ่อ เดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นไร่ฝิ่น ต่อมาราชการส่งเสริมให้ปลูกบ๊วย พะตีเห็นสวนบ๊วยมาตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาด้วยพืชผลอื่นๆ ราคาดีกว่า จึงปล่อยให้สวนบ๊วยโตตามธรรมชาติไม่ได้แต่งกิ่ง คัดพันธุ์ ใส่ปุ๋ย หรือใส่ยาใดๆ ผลบ๊วยที่นี่จึงคงความเป็นบ๊วยพันธุ์ดั้งเดิมลูกไม่ใหญ่มาก แต่ให้รสชาติที่จัดจ้าน แถมยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นดี ถึงกับนำผลสุกมากวนเก็บไว้และขายในราคาแพงทีเดียว

กวิ๊-อำนวย นิยมไพรนิเวศน์ เกษตรกรรุ่นใหม่บ้านหนองเต่า ผู้คลั่งไคล้ บ๊วย กาแฟ และผลผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้พาเราบุกสวนบ๊วย บอกให้เราปีนเก็บได้ตามใจ เลือกผลที่ลูกใหญ่สีเขียวมาดองเหล้าบ๊วย หมักบ๊วยน้ำตาลไซรัป เลือกผลสุกสีเหลืองมาไว้กวนยาอายุวัฒนะ ด้วยต้นบ๊วยสูงใหญ่ เราจึงต้องปีนกันอย่างทุลักทุเลทั้งเช้าจนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น บ๊วย 4 ตระกร้าใหญ่ กับอีก 2 กระสอบ รวมกันหนักร่วม 30 กิโลกรัมเตรียมพร้อมลำเลียงขึ้นรถ เมื่อถึงบ้านต้องผ่านพิธีกรรมล้าง แกะขั้วออก นำลงโหลเพื่อเตรียมพร้อมหมักไว้ดื่มในฤดูกาลต่อไป

กวิ๊เล่าว่า ภูมิปัญญาญี่ปุ่นในการทำเครื่องดื่มรสหวานเป็นของแม่บ้าน น้ำบ๊วยที่รสอร่อยต้องหวานพอดีรสชาติจัดจ้าน เพราะญี่ปุ่นเชื่อว่ากินบ๊วยต้องได้รสชาติบ๊วย กินผักต้องได้รสชาติผัก ไม่ใช่ว่ากินบ๊วยแล้วได้รสน้ำตาล มันต้องเพื่อสุขภาพ ส่วนผลสุกชาวญี่ปุ่นจะนำมากวนทำยาอายุวัฒนะที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเทคนิค

ว่ากันว่าที่ญี่ปุ่นยากวนบ๊วยหนึ่งกระปุกราคาแพงถึงหลักพัน ชาวญี่ปุ่นนิยมกินยากวนขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟทุกเช้าเพื่อบำรุงธาตุร่างกาย พวกเราบรรจงบรรจุบ๊วยลงโหลตามสูตรเคล็ดลับรสชาติที่ลงตัวของกวิ๊ บ้างดองเหล้า บ้างหมักกับน้ำตาลไซรัป รอวันที่จะได้ชิมรสชาติชื่นใจในอีก 1 ปีข้างหน้า

ตะวันตกดิน จบความสุขประจำวันนี้ด้วยรอยยิ้มเย็นๆ ของพวกเราชาวเถื่อนทัวร์ กับบทสนทนา ที่กวิ๊เล่าถึงการรวมกลุ่มของเกษตรกรปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่ยังคงสืบทอดแนวคิดการดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตามที่บรรพบุรุษเล่าและส่งต่อกันมา และสามารถปรับตัวเข้ากับระบบการค้าของโลกสมัยใหม่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดยไม่หลงลืมปรัชญา หลักคิด ละทิ้งที่ดิน ทิ้งวิถีคนกับป่าเข้าเมืองกันหมด

“จริงๆ กลุ่มผมเน้น 5 เรื่อง คือ ทรัพยากร สุขภาพ การค้าที่เป็นธรรม คนรุ่นใหม่ และพลังงาน หากความต้องการของตลาดมันสูงขึ้น มันก็ยิ่งต้องควบคุมคุณภาพหรืออะไรเยอะมาก ผมว่าพี่น้องปกาเกอะญอตอนนี้ไม่ได้พูดเรื่องการค้านะครับ แต่เราพูดถึงการแลกเปลี่ยน”

“ผมไม่เก่งเรื่องการค้า ปีหนึ่งผมทำได้แค่นี้ ใครที่ชอบกาแฟของผมและอยากได้ก็จองหรือสั่งล่วงหน้า สมมุติว่าผมมีผลผลิตหนึ่งตัน แต่มีความต้องการห้าตัน ไม่ใช่ว่าผลิตได้ไม่พอนะครับ แต่ผมไม่มีศักยภาพหรือไม่มีพื้นที่ที่จะปลูกให้ได้ปริมาณห้าตัน ผมต้องไปเอามาจากที่อื่นซึ่งไม่ใช่จากสมาชิกของเราแน่ๆ”

“ถ้ามันคือการปลูกเพราะเป็นกระแส เห็นคนนั้นทำแล้วเวิร์ค (เกษตรกร) เลยอยากทำบ้าง แบบนี้ไม่ยั่งยืน ถ้าปีหน้าอะโวคาโดมา เราต้องตามไปปลูกอะโวคาโดเหรอ? ไม่ใช่อย่างนั้น”

สิ่งที่กวิ๊เล่าและน่าสนใจอีกประการ คือ การกลับมาของคนรุ่นใหม่

“ปัญหาที่เรากลัวคือ กลัวที่ดินหลุดมือ” เพราะคนรุ่นใหม่ออกจากพื้นที่ไปเรียนหนังสือ และทยอยขายที่ไม่ได้กลับมาทำงานในพื้นที่ของตัวเอง แต่วันหนึ่ง 60 ปี เขาต้องกลับมา แต่จะทำอย่างไรถ้าไม่มีที่ให้กลับ? เคยมีตัวอย่าง นายทุนเข้ามาซื้อที่แค่คนเดียวแต่แย่งน้ำชาวบ้านไปหมดเลย เราต้องป้องกัน ต้องซื้อคืน”

ไม่เพียงอยากเห็นการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ เป้าหมายของกวิ๊ คือการเห็นบ้านของตัวเองเป็นฐานการเรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มเพื่อน และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้

“ผมใช้คำว่าฐานเรียนรู้ ทุกคนต้องมีฐานและฐานต้องมั่นคง ตอนนี้ผมมีสมาชิก 10 คน ได้ 10 ฐานการเรียนรู้ที่พร้อมให้คนเข้าไปเรียนรู้ได้”

“สิ่งที่ต้องรู้คือ เกษตรแบบไหนที่อยู่ได้ แบบไหนที่ไม่ต้องมีรายได้ก็อยู่ได้เพราะทำกินเอง ตอนนี้เราใช้คำว่า ‘กินให้มันเหลือ’ แล้วก็ขาย คุณมาหาผม อย่าคิดแต่ว่า มาเอาบ๊วย มาเอากาแฟ ผมมีบ๊วย ผมมีกาแฟ แต่คุณมีอะไรดีเยอะมาก หมายถึง ผมก็ต้องการพึ่งคุณ คุณถนัดเรื่องอาหาร เรื่องเทคโนโลยี นั่นก็เป็นสิ่งที่ผมต้องการ” กวิ๊กล่าวอย่างชวนคิดตาม

ถอดรหัสหมายเลข 7 หลักธรรมชาติ ในสวนคนขี้เกียจ Lazy Garden

วันสุดท้ายก่อนกลับบ้านเราตื่นเช้ามาด้วยการหยุดดูดวงตะวันหน้าบ้านที่ค่อยๆ วิ่งข้ามผ่านจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก เรามองเห็นเทือกเขาขุนน้ำวางที่โอบล้อม สัมผัสได้ถึงลมเอื่อยๆ ที่พัดพาก้อนเมฆสีขาวปลิวผ่านไป ใบไม้ไหว นกร้อง ดวงดาวและอากาศหนาวเมื่อพระอาทิตย์ตกดินทำเอาน้ำเย็นเจี๊ยบในฤดูร้อน

เช้าวันนี้ เรามาตามหาความหมาย ‘หมายเลข 7’ ว่าซ่อนนัยยะความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติอย่างไร

ระหว่างเดินเท้าไป สวนคนขี้เกียจ (Lazy Garden) เราได้พบกับ พะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชุมชนคนกับป่า ผู้ซึ่งมาพร้อมกับกระบอกสะพายบ่าใส่มีด 3 เล่ม “หนึ่งเล่มไว้เลื่อย อีกเล่มไว้ตัด” พะตีจอนิอธิบาย

เมื่อถึงสวนคนขี้เกียจ ทั้งสวนเต็มไปด้วยต้นไม้ซึ่งมีลูกธนูแขวนอยู่ กระบอกไม้ไผ่ส่งเสียงก๋องแก๋งราวกับจะต้อนรับเรา มองไปไม่ไกลเห็นหวายสานเป็นรู 7 ช่องขนาดใหญ่ติดอยู่ที่ห้องประชุม สัญลักษณ์นี้เองที่เราต่างสงสัย ทำไมถึงมี 7 ช่อง?

พะตีจอนิ เล่าให้เราฟังว่า นี่คือ ‘ตาแหลว 7 ชั้น’ หมายถึงตาพระอาทิตย์ ลักษณะเป็นเหมือนดาว 7 เหลี่ยม พะตีบอกว่าเป็นดาวปรัชญาที่บรรพบุรุษปกาเกอะญอสอนลูกหลานให้เรียนรู้หลักธรรมชาติ

‘เลข 7’ ของคนปกาเกอะญอ เป็นสิ่งแทนองค์ประกอบของธรรมชาติได้หลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างการเกิดโลก การเกิดมนุษย์ เป็นตัวแทนของ เมฆ หมอก ลม ไฟ หิน ดิน น้ำ ซึ่งจะประกอบขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต

เลข 7 ตัวที่เชื่อมโยงร่างกายเรากับธรรมชาติ 1 คือ หัว, 2 คือ หัวใจ, 3 และ 4 คือ แขนทั้ง 2 ข้าง, 5 และ 6 คือขา ส่วนเลข 7 ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น คือ ฟ้า 7 ซ้อน, ดิน 7 ชั้น อยู่รอบตัวเรา ซึ่งยังซ่อนความหมายของวิญญาณ เมืองผี เมืองนรก และเป็นความสัมพันธ์ของร่างกายเรากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

เลขทั้ง 7 ที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ คือ ความเชื่อดั้งเดิม ภูมิปัญญาเก่าแก่ของปกาเกอะญอ ที่บ่มเพาะสอนให้ลูกหลานสังเกตธรรมชาติ จับความหมายออกมาเป็นตัวเลขแทนสรรพสิ่งทั้ง 7 และสอนให้คนปกาเกอะญอเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติทั้ง 7 อย่างสังเกต สังเกตลม สังเกตน้ำ สังเกตฟ้า สังเกตดิน สังเกตไฟ และเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการธรรมชาติได้อย่างพึ่งพากัน

ก่อนกลับ พะตีจอนิ สอนเรื่องการปกครองของสัตว์ 7 แบบ แทนคุณลักษณะของผู้นำที่สอดคล้องกับการจัดการทรัพยากร ที่น่าสนใจมาก คือผู้นำที่…

ปกครองแบบเสือ คือ ใช้อำนาจปกครอง
ปกครองแบบยุง คือ ใช้มือเพื่อฆ่าแกงชีวิตคนเหมือนตบยุง
ปกครองแบบนกเหยี่ยว คือ บินสูง
ปกครองแบบนกพญาไฟ คือ มีระเบียบใช้คำสั่งตัดสินถูก-ผิด
ปกครองแบบนกเค้าแมว คือทำให้คนกลัว ต้องดุ ต้องใช้อำนาจ
ปกครองแบบนกเขาเขียว คือ พยายามหลอกตัวเองหลอกคนอื่น
ปกครองแบบนกแซงแซว คือ ใช้ปลายนิ้วมือชี้โน่นชี้นี่ไม่ทำอะไรเอง

การปกครอง 7 แบบ เป็นแบบแผนที่บรรพบุรุษสังเกตพฤติกรรมการปกครองของผู้นำ และชี้ให้เห็นว่าการปกครองแบบใดจะเหมาะสมที่สุดในการปรับตัวให้อยู่ได้ในปัจจุบัน และผู้นำแบบไหนที่เราควรเรียนรู้ที่จะไม่เป็นและไม่ทำ และทำอย่างไรที่เราจะเป็นผู้นำที่ให้คุณค่ากับตัวเองให้คุณค่ากับผู้อื่น ให้ความยุติธรรมกับธรรมชาติ และจัดสรรผลประโยชน์โดยไม่สร้างความขัดแย้งและกระจายอำนาจได้อย่างเป็นธรรมดำรงอยู่ร่วมกันได้มากที่สุด

วงกลมเจอร์นี่ วงจรการเดินทางที่นำพลังกลับคืนสู่วิถีเมือง

ปิดท้ายการเรียนรู้จากทริปเถื่อนทัวร์ เราเชื่อว่าในยุครอยต่อของกาลเวลา ‘คนเฒ่า’ คือรากฐานหนุนเสริม ‘คนรุ่นใหม่’ ให้พุ่งขึ้นไป ปรับตัวได้ในกาลเวลาที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงมากมายที่สุด

พะตีจอนิ สวนคนขี้เกียจ คือ ตัวแทนของคนที่รักษาส่งต่อความรู้ภูมิปัญญา พะตีพะซาลอย เจ้าของสวนบ๊วยธรรมชาติ 40 ปี คือ ตัวแทนของคนที่รักษาและส่งต่อฐานทรัพยากร มายังคนรุ่นใหม่ ทั้ง กวิ๊ ผู้ปรุงบ๊วย ผู้ริเริ่มฐานเรียนรู้กลุ่มกาแฟ/ศาลามิตรภาพไร้พรมแดน และ โอชิ ผู้เกิดจากดิน Lazy Man College และทั้งหมดนี้ คือ การเรียนรู้ที่เพื่อนสอนเราให้เราเรียนรู้ความหมายของการดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างเรียบง่ายที่สุด

การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมจากทริปเถื่อนทัวร์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า คนสัมพันธ์กับป่า คนรักษาธรรมชาติอย่างไร แง่งามของวิถีปกาเกอะญอที่ทรงคุณค่า กับความหมายอันมหัศจรรย์ของตัวเลขทั้ง 7 ส่งต่อมายังคนรุ่นหลังและทำให้ความคิดความเชื่อของเราเปลี่ยนไป ที่สำคัญเราได้เพื่อนใหม่ ที่อยู่ในความทรงจำ รอวันกลับไปพบกันใหม่และเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต

วันพรุ่งนี้เรากลับเข้าสู่เมืองใหญ่ วิถีชีวิตที่หาน้ำดื่มได้สะดวกสบาย น้ำไหลจากก๊อก อากาศที่เราหายใจจากแอร์ อาหารและผลไม้ที่เรากินจากซูเปอร์มาร์เก็ต คงแตกต่างจากบ้านหนองเต่า ที่เราแทบไม่รู้ว่ามาจากที่ดินหรือต้นไม้ต้นไหน แต่เมื่อสัมผัสกับธรรมชาติทุกครั้งจะทำให้เราไม่ลืมว่าพี่น้องกลุ่มหนึ่งกำลังรักษาป่า ดูแลต้นน้ำไว้ให้เราใช้อย่างสะดวกสบาย กลับเมืองรอบนี้ เราได้พลังการเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยม และแน่นอนว่าคุณค่าความหมายสายตาที่เรามองเห็นธรรมชาติย่อมไม่เหมือนเดิม

เนื้อหาต้นฉบับจาก The Potential

Message us