เมื่อวันที่ 1-3 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ร่วมกับคณาจารย์วิชาชนบทศึกษา คณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรมค่ายเตรียมความพร้อมคณาจารย์และนักศึกษาเข้าสู่ชุมชนด้วยใจอัศจรรย์
เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่ พญ.รุจิรา มังคละศิริ ได้ริ่เริ่มสร้างเครือข่ายนักปฏิบัติการมืออาชีพ เป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ปีหนึ่ง ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่ทำงานในชุมชนจริง กระจายตามฐานฝึกย่อยต่างๆ หลายแห่งทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง โดยปีนี้จัดขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ความรับผิดชอบของ พญ.สีขาว เชื้อปรุง ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มะขามป้อมได้รับโอกาสให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบทเริ่มต้นของการเรียนรู้ เพื่อสร้างแพทย์ที่เป็นผู้นำพาความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีกระจายสู่ผู้คนไม่จำกัดว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน มีฐานะเช่นไรก็ตาม
โดยในครั้งนี้มี นพ.พัฒน ธัญญกิตติกุล จากภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการด้วย
โดยกิจกรรมวันที่ 1 เป็นการทำกระบวนการเตรียมความพร้อมให้กับคณาจารย์และกลุ่มพี่เลี้ยงฐาน 28 คน ใช้เวลา 1 วัน โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นกระบวนการกลุ่ม (Peer-directed learning) และแนวคิดกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้ (Transformative Theatre) โดยใช้กิจกรรมเรื่องเล่าชีวิต ฝึกจดจ่ออยู่กับการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ใช้กิจกรรมต่อตัวกลไก เพื่อเรียนรู้ทักษะการสื่อสารผ่านร่างกาย และใช้กิจกรรมละครสามฉาก เพื่อเรียนรู้เทคนิคการสร้างโครงเรื่องอย่างง่าย จากนั้นทำการซ้อมและแสดง ฝึกฝนการส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกให้ผู้ชมได้รับรู้ ทั้งหมดเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมสัมผัสกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การกระโจนเข้าสู่การปะทะความรู้สึกจริงผ่านกระบวนการละคร
กิจกรรมวันที่ 2-3 เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมนักศึกษา 122 คน เข้าสู่การศึกษาชุมชน ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 วันครึ่ง เริ่มต้นด้วยการเล่นเกม เคลื่อนไหวร่างกายเตรียมพลังงานภายในให้พร้อม ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ข้ามกลุ่ม สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนกระตุ้นการเรียนรู้ ทบทวนความหมายและความสำคัญของการเป็นแพทย์ ผ่านคำถาม “ทำไมถึงมาเป็นแพทย์/ทันตแพทย์” และ “อะไรคือคุณค่าของวิชาชีพนี้” ครึ่งบ่ายเป็นการทบทวนการใช้ประสาทสัมผัสและความรู้สึก ผ่านกิจกรรมแผนที่เสียง แผนที่ความรู้สึก ก่อนจะเตรียมซักซ้อมคำถามชวนพูดคุย ข้อควรคำนึงในการลงพื้นที่สำรวจชุมชน และแบ่งกลุ่มย่อย 14 กลุ่ม ลงพื้นที่สำรวจ 2 ชุมชน บ้านคลองย่าโมและบ้านบุไทร ชุมชนละ 7 กลุ่ม ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเศษในการขอความอนุเคราะห์พูดคุยและทำความรู้จักกับผู้คนในชุมชนนั้น ภาคกลางคืนกลับมาคายข้อมูล สังเคราะห์ผ่านเครื่องมือแผนที่เดินดินและสมุดบันทึกมนุษย์ เช้าวันถัดมาฝึกทักษะการสื่อสารผ่านร่างกายและการสร้างโครงเรื่องอย่างง่าย ผ่านกิจกรรมต่อตัวกลไกและละครสามฉาก จากนั้นคัดสรรเรื่องราวของคนในชุมชนที่เป็นที่สุด นำมาพัฒนาเป็นละครสั้น แบ่งปันความประทับใจให้กับเพื่อนร่วมค่าย กลับมาช่วงบ่ายใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงในการสรุปบทเรียนหลังการทำงานกลุ่ม เขียนบันทึกสะท้อนการเรียนรู้รายบุคคล และแบ่งปันการค้นพบตลอดระยะเวลาที่อยู่ในค่ายร่วมกัน
แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่เราทีมวิทยากรได้นำพาการเรียนรู้ให้กับน้องๆ แต่เห็นได้ชัดเจนจากการสรุปการเรียนรู้ประจำวันและตลอดค่าย ว่าสิ่งที่เราทำได้ชี้ชวนให้หลายคนได้กลับมาตั้งคำถามถึงคุณค่าของการเรียนในวิชาชีพแพทย์และทันตแพทย์ คุณค่าทั้งในแง่ที่มีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคมโดยรวม หลายคนสะท้อนถึงการได้กลับมาใช้ความละเอียดอ่อนของความรู้สึก สัมผัสธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่หล่นหายไปในระหว่างการเรียนการสอนและการท่องหนังสือสอบ หลายคนได้มีโอกาสพบเจอกันเรื่องราวในชีวิตของผู้อื่น เปิดมุมมองที่แตกต่าง เข้าใจชุมชนในฐานะมนุษย์ที่มีเบื้องหลังและลมหายใจ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะหนุนเสริมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้รักษาที่ดี เป็นแพทย์ที่ไม่หลงลืมความรู้สึกของผู้คน
แต่หากถ้ามีเวลามากกว่านี้ เราจะได้เห็นละครที่สามารถสื่อสารความรู้สึก และเรื่องราวในชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างครบถ้วน หลายเรื่องมีจุดหักเหและแง่มุมการดูแลสุขภาพที่น่าสนใจ ซึ่งครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรกที่นักศึกษาได้ฝึกทักษะการแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย อาจจะมีบ้างที่ยังเก้ๆ กังๆ ชวนให้เป็นที่อมยิ้มขบขัน แต่หลังจากชวนคุยถึงเบื้องหลังเบื้องลึกที่มาของการเลือกเรื่องราวมากถ่ายทอด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขาได้เข้าถึงความสามารถเบื้องต้น ในการเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว
หลังจากนี้เป็นคงต้องพึ่งพาบทบาทของคณาจารย์ นำโดยอาจารย์สีขาว และพี่เลี้ยงฐานฝึก ที่ผ่านการฝึกอบรมในกระบวนการละครเพื่อความเข้าใจความเป็นมนุษย์เช่นกัน ในฐานะผู้แบ่งปันเครื่องมือการเรียนรู้ให้กับคณาจารย์ ที่ส่วนใหญ่ให้ผลสะท้อนและตอบรับในทางที่ดีเช่นกัน แม้ว่าจะมีบางส่วนที่สะท้อนว่าเครื่องมืออาจจะยังไม่ถูกจริต ซึ่งไม่จำเป็นว่าเครื่องมือละครจะเหมาะสมกับลักษณะการเรียนรู้ของนักศึกษาทุกคน แต่หัวใจสำคัญคือ การนำพาความละเอียดอ่อน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ให้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในทุกจังหวะการเรียนรู้ และหวังว่าเครื่องมือละครจะเป็นหนึ่งในอาวุธชิ้นสำคัญที่คณาจารย์จะใช้ในการทำงานการแพทย์เชิงรุก ขับเคลื่อนสร้างสังคมที่แข็งแรง ร่วมผลักดันให้ระบบประกันการดูแลสุขภาพที่มีหัวใจ กระจายครอบคลุมไปยังทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ละครถกแถลงค่อยๆเสริฟขึ้นโต๊ะที่ออสเตรเลีย หลายคนอาจแปร่งลิ้นเพราะรสชาติยังใหม่ แต่บางคนเริ่มติดใจ ผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า ละครถกแถลงเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่น่าสนใจในศตวรรษนี้ ศตวรรษที่ผู้คนแบ่งแยกและหันหลังให้กัน