หัวใจของหนังสือเล่มนี้ ก็เพื่อเชิญชวนให้พวกเราทุกคนมาร่วมหาคำตอบว่าการอุดมศึกษาจะเป็นภารกิจที่มีหลายมิติกว่านี้ได้อย่างไร? ภารกิจที่ดึงศักยภาพของมนุษย์ในการแสวงหาความรู้ การสอนและการเรียนออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างข้อต่อที่แข็งแกร่งระหว่างการรู้จักโลกกับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างสร้างสรรค์ ทั้งอยู่อย่างสันโดษและอยู่เป็นชุมชน
“เราต้องการการศึกษาที่น้อมรับทุกมิติของความเป็นมนุษย์ที่ให้เกียรติความหลากหลายของประสบการณ์มนุษย์ มองดูตัวเราและโลกผ่านเลนซ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและให้การศึกษาผู้เยาว์ของเราในแบบที่เขาจะเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายทั้งหลายในยุคสมัยของเราได้”
ปาร์กเกอร์ ปาล์มเมอร์ ศึกษาทางปรัชญาและสังคมวิทยาในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์ เขาตัดสินใจนำวิชาสังคมวิทยามาใช้ในชีวิตจริงมากกว่าอยู่ในสถาบันการศึกษา เขาทำงานเป็นนักจัดตั้งชุมชนในวอชิงตันดีซีอยู่ 5 ปี จากนั้นไปทำงานในชุมชนการเรียนรู้เควกเกอร์สำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่และนักแสวงหาอีกหนึ่งทศวรรษ เขาเป็นนักเขียน ครูสัญจร นักกิจกรรมทางการศึกษา สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเอกชนไม่แสวงผลกำไร เขาสนใจเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องศิลปะการสอนในทุกระดับ เรื่องชุมชนจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงสังคม เขาเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์แห่งความกล้าหาญและการฟื้นฟู ( Center for Courage and Renewel )
อาเธอร์ ชายองค์ ศึกษาทางวิศวกรรม และ ฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาเป็นนักฟิสิกส์ เป็นอาจารย์ และ นักวิชาการสหวิทยาการนานกว่า 30 ปี งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของซายองค์ มีหัวข้อที่กว้างขวางในด้านฟิสิกส์อะตอม-เลเซอร์ พื้นฐานกลศาสตร์ควอนตัมเชิงทดลอง นอกจากนั้นเขายังสนใจประวัติศาสตร์ และปรัชญาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันะ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ แะ มนุษยศาสตร์ ต่อมาเมื่อกลางทศวรรษที่ 1990 เขาทำงานด้านการศึกษาแบบบูรณาการและการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง และมีความสนใจเป็นพิเศษในด้าน”ภาวนาศึกษา” ( Contemplative Pedagogy )
หนังสือเล่มนี้เกิดจากการสนทนาอันต่อเนื่องยาวนานจากผู้เขียนทั้งสองท่าน รวมทั้งเพื่อนร่วมงานใกล้ชิด และคนอื่นๆอีกมากมาย เป็นการสนทนาที่นำพาผู้คนให้เข้าใกล้หัวใจของสิ่งที่ทุกคนห่วงใยร่วมกัน ทั้งสองคนมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยมองว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษามีพลังและความหวังว่าจะ “ คิดถึงตัวเราเองและโลกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน” ไม่ใช่แยกตัวตนออกจากโลก โดยมีการพูดคุยกันนานกว่าทศวรรษ จนเกิดการประชุมครั้งสำคัญที่ชื่อว่า “ เผยหัวใจอุดมศึกษา : การเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อปฏิบัติการด้วยความเห็นอกเห็นใจในโลกที่โยงใยถึงกัน” จัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี2007 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 600 คนจากสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เพื่อตั้งคำถามสำคัญที่ว่า “ การศึกษาในปัจจุบันได้ทุ่งมั่นที่จะเตรียมมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งสมอง หัวใจ และ จิตวิญญาณ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่อนาคตของเราบนโลกที่เปราะบางนี้แล้วหรือไม่ เราจะช่วยมหาวิทยาลัยของเราให้เป็นสถานที่ที่ลุกศักยภาพที่ลึกที่สุดในตัวนักศึกษา อาจารย์ และบุคคลากร ได้อย่างไร ?
ปาล์มเมอร์ตั้งข้อวิจารณ์ 5 ข้อต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาไว้อย่างน่าสนใจไว้ว่า
- พื้นฐานปรัชญาอ่อนแอ
- การศึกษาแบบบูรณาการไร้ระเบียบเกินไป
- ห้องเรียนไม่เปิดพื้นที่ให้แก่อารมณ์
- ต่อต้านชุมชน
- วิชาการกับจิตวิญญาณ ประสานกันไม่ได้
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากประสบการรืการทำงานสอนของผู้เขียนทั้งสอง และ การบันทึกบทสนทนาของนักการศึกษาทั่วโลก เช่น ปรัชญาการศึกษาแบบบูรณาการ การนำปรัชญามาปฏิบัติ พ้นไปจากชีวิตทางวิขาการที่แบ่งแยก ใส่ใจในโยงใยสัมพันธ์ ใช้ชีวิตเป็นบทเรียน ประสบการณ์ การใคร่ครวญ และ การเปลี่ยนแปลง การสนทนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย รวมทั้ง การทดลองการศึกษาแบบบูรณาการ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และ การริเริ่มของฝ่ายบริหารทั่วทั้งมหาวิทยาลัย อีกด้วย
รรณิการ์ พรมเสาร์ แปล
สดใส ขันติวรพงศ์ บรรณาธิการ
สนพ.สวนเงินมีมา