ในช่วงเย็นวันเสาร์ช่วงเวลาพักผ่อนสำหรับใครหลายๆ คนรวมถึงผมด้วย แต่วันหยุดครานี้มันพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะผมได้มาอยู่ที่ตัวเมืองเชียงราย คงเป็นเพราะได้มาสัมผัสตัวเมืองเป็นครั้งแรกจึงทำให้ผมอยากที่จะออกไปนั่งรถเล่นเพื่อชมบริเวณโดยรอบ ออกไปได้ไม่นานมากนักสายตาของผมก็ถูกดึงดูดจากถนนเส้นหนึ่งที่ดูต่างออกไปจากที่อื่นๆ เพราะถูกปกคลุมด้วยเหล่าต้นไม้สีเขียวสดไปจนตลอดทางแทนที่จะเป็นสิ่งปลูกสร้างต่างที่ควรจะมีตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป เมื่อเห็นดังนั้นผมจึงได้ขอให้คนขับหยุดรถเพื่อจะลงไปเดินสำรวจ ทันทีที่ประตูของรถถูกเปิดก็มีเสียงพูดคุยของคนจำนวนหนึ่งดังขึ้นมาจากทางด้านใน
เมื่อเดินไปจนสุดปลายเสียงก็พบกับอาคารสูงสองชั้นตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติซึ่งดูแล้วเข้ากันได้อย่างลงตัว ทางด้านหน้าตัวอาคารมีการลงตัวอักษรว่า ‘บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย’ ไว้อย่างชัดเจน ตัวลานด้านหน้าก่อนที่จะถึงประตูมีการจัดวางเก้าอี้หลายสิบตัวเอาไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไว้ต้อนรับแขกที่จะมารับชมงานนิทรรศการศิลปะที่จะถูกจัดขึ้นในทุกๆ เดือน

ตัวผมนั้นโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้สนใจในงานศิลปะเท่าไหร่นัก แต่เพราะยังอยากเข้าไปสำรวจด้านตัวอาคารอยู่ จึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมอย่างไม่ลังเลใจเท่าไหร่นัก ทันทีที่ก้าวเท้าผ่านประตูก็ถูกต้อนรับด้วยกลิ่นกาแฟที่หอมตลบอบอวนอยู่ในอากาศ เนื่องจากชั้นแรกสุดของตัวอาคารได้ถูกสร้างเป็นร้านกาแฟที่ตกแต่งให้เข้ากับลักษณะของตัวบ้านได้อย่างดีเยี่ยม ห้องที่อยู่ถัดไปในทางขวามีโต๊ะและเก้าอี้ถูกวางเอาไว้ ส่วนตัวผนังเป็นสีขาว แต่มีบางส่วนแตกหักออกเปิดให้เห็นตัวอิฐที่ถูกก่ออยู่ด้านใน อาจเป็นเพราะว่าอาคารแห่งนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว

ตรงส่วนกลางมีบันไดไม้สำหรับขึ้นไปยังชั้นสอง เมื่อเดินขึ้นไปถึงชั้นบนก็พบกับโซนนิทรรศการที่มีงานศิลปะจัดแสดงอยู่ตามห้องต่างๆ ที่ถูกแบ่งเอาไว้แต่ทุกห้องมีทางเดินที่เชื่อมถึงกัน เมื่อเดินดูจนรอบผมก็ตัดสินใจที่จะออกจากตัวบ้าน แต่ก็เอะใจกับขนาดของประตูที่ดูสูงผิดปกติจากอาคารทั่วไป ผมจึงค่อยๆ ก้าวถอยออกมาอย่างช้าๆ และระมัดระวังเพื่อที่จะมองเห็นประตูได้ทั่วทั้งบาน เมื่อได้มองดูอย่างละเอียด

ผมก็เดินเข้าไปถามพี่พนักงานที่อยู่ในบริเวณแถวนั้นด้วยความสงสัยในสัดส่วนของประตูที่ดูผิดแปลกไปจากปกติ จนได้คำตอบว่า ที่ประตูของบ้านสิงหไคลสูง เพราะเคยเป็นบ้านของมิชชันนารีที่เป็นชาวตะวันตก ทำให้ต้องสร้างประตูให้มีสัดส่วนใหญ่กว่าของคนไทย

บ้านสิงหไคลสร้างมาตั้งแต่ปี 1917 มีอายุ 104 ปี เป็นบ้านปูนสองชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณต้นไม้ร่มรื่น ริมถนนสิงหไคล จากการพูดคุยกับพี่ปอย-พจวรรน พันธ์จินดา ผู้จัดการแกลลอรี่ในบ้านสิงหไคล ทำให้ทราบข้อมูลว่าตัวบ้านสิงหไคลถูกออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลียม เอ.บลิกส์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม จากประเทศแคนาดา นอกจากบ้านสิงหไคลแล้วเขายังเป็นผู้วางผังเมืองของจังหวัดเชียงราย สร้างโรงพยาบาลโอเวอร์บรุกอีกด้วย

ในการออกแบบตัวบ้านสิงหไคลเขาได้ใช้การก่ออิฐถือปูนตามสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งจะทำให้ตัวอาคารสามารถรับน้ำหนักของมันเองได้โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเสาเลยแม้แต่ต้นเดียว เดิมทีฝ้าเพดานของตัวอาคารนั้นถูกเปิดไว้แต่เมื่อถูกเปิดออกทำให้เห็นโคลงสร้างที่ถูกซ่อนเอาไว้ข้างในซึ่งเป็นลักษณะของวางตัวไม้พาดกันในแต่ละช่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักของตัวอาคาร

หน้าต่างทุกบานถูกออกแบบมาให้มีขนาดใหญ่จนสามารถนั่งได้ ตัวอาคารนั้นถึงแม้จะเป็นอาคารสองชั้นก็ตามแต่ก็ยังมีห้องใต้หลังคาซ่อนไว้อยู่อีก ซึ่งมีหน้าที่รับความร้อนแทนตัวอาคารทั้งหลังทำให้ชั้นอื่นๆ ในตัวอาคารมีความรู้สึกเย็น

เดิมทีบ้านสิงหไคลถูกสร้างไว้สำหรับเป็นบ้านพักของมิชชานารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในเวียงเชียงรายได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกลุ่มมิชชันนารีถูกระงับไม่ให้เผยแผ่ศาสนาตัวอาคารเลยถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดไปเป็นฐานทัพชั่วคราวแล้วส่งคืนสู่มือของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยและถูกทิ้งไว้มาหลายสิบปีก่อนที่จนกระทั่งคุณสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ได้มาทำการประมูลขอเช่าและได้ทำการบูรณะตกแต่งขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นแหล่งจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อให้โอกาสศิลปินในท้องที่ได้นำผลงานมาจัดแสดงโชให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความสามารถของศิลปินในบ้านเรา อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภัยพิบัติตามเจตนารมณ์ของ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บ้านสิงหไคลเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงอยู่กับเมืองเชียงรายในพื้นที่ร่มรื่นอย่างสงบเงียบ


ผู้เขียน: นายธนพนธ์ เครื่องกลาง โรงเรียนนครวิทยาคม
ผลงานจากการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผลิตเรื่องเล่าสำหรับเยาวชน โครงการเล่าเรื่องแม่น้ำโขง เฟส 2
Mekong Storytelling Phase II: Empowering Young Local Storytellers