‘บ้านสิงหไคล’ อาคารโบราณสไตล์ยุโรปถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1917 ตั้งอยู่บนถนนสิงหไคลมากว่าร้อยปี แต่ถึงจะมีอายุยืนนาน บ้านก็ยังคงสภาพเดิมของตัวบ้านไว้ได้อย่างดี จนไม่เหมือนบ้านที่มีอายุนับ 100 ปี

ในปัจจุบัน มูลนิธิมดชนะภัยเข้ามาดูแลบ้านสิงหไคล ทำชั้นล่างเป็นคาเฟ่และชั้นสองเป็นแกลเลอรี่ เพื่อชักชวนให้คนเข้าชมบ้านมากขึ้น เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในบ้านฉันรู้สึกแปลกใจยิ่งกว่าเห็นสภาพภายนอกของตัวอาคารด้วยซ้ำ ไฟสีเหลืองบนเพดานที่สาดส่องตัดกันกับแสงจากดวงอาทิตย์ที่เล็ดลอดผ่านช่องจากหน้าต่าง ทำให้ห้องที่มืดน่ากลัวกลายเป็นห้องที่ดูมีพลังขึ้นมา

บ้านหลังนี้มีการตกแต่งผนังที่แปลกตา เพราะภายนอกอาคารมีการรีโนเวทเหมือนใหม่แต่ภายในกลับดูเก่าเพราะยังเป็นพื้นไม้ ของบางสิ่งก็ดูเหมือนไม่ถูกซ่อมแซม การตกแต่งภายในบางส่วนก็ถูกปิดไป ในส่วนของตัวบันไดยังคงสภาพเดิมอยู่ เพียงแต่มีการทาสีเพื่อให้ดูเข้ากับการตกแต่งใหม่ สิ่งที่น่าสนใจของบ้าน คือหน้าต่างประตูมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางห้องมีหน้าต่าง 6 บาน บางห้องมี 4 บาน และมีรูปทรงที่ต่างกัน

ฉันมีโอกาสพูดคุยกับ พี่โน๊ต-เอกพงษ์ ใจบุญ และ พี่อุ๋มอิ๋ม-พุทธรักษ์ ดาษดา ทีมนักออกแบบตกแต่งภายนอกและภายในของบ้านสิงหไคล หลังจากที่มูลนิธิมดชนะภัยมีแนวคิดจะจัดตั้งบ้านแห่งนี้เป็นแกลเลอรี่ ฉันจึงไม่รอช้าที่จะถามในสิ่งที่ฉันสนใจ นั่นคือการตกแต่งบ้านที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ทีมนักออกแบบเล่าให้ฟังว่ามูลนิธิมดชนะภัยเล็งเห็นว่า บริเวณบ้านสิงหไคลเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่จะทำเป็นที่ทำการของมูลนิธิ และได้มีการทำเป็นร้านอาหารควบคู่กันไปด้วย ทำให้ตัวอาคารซึ่งไม่ถูกใช้งานเป็นเวลากว่า 10-15 ปีกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ประธานมูลนิธิมดชนะภัยติดต่อกับทีมงานออกแบบให้ทำตัวอาคารเป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ การทำเฉพาะแกลเลอรี่จะทำให้การใช้งานค่อนข้างจำกัด จึงมีการเสนอให้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเดิมเพื่อดึงดูดให้เป็นจุดสนใจของผู้คน เพื่อทำให้บ้านสิงหไคลเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานศิลปะของจังหวัดเชียงราย เพราะเหตุนี้นักออกแบบจึงออกแบบให้มีความเข้ากับยุคสมัยใหม่

ในส่วนของผนังถึงแม้จะเก่าแต่ยังคงสภาพใช้งานได้ จึงไม่มีการรีโนเวทใหม่ เพราะยังเห็นถึงความสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง อีกทั้ง การรื้อเพดานเก่าออกทำให้เห็นโครงสร้างของตัวอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ จึงไม่มีการตกแต่งเพิ่มใดๆ แต่ยังมีการทาสีเพื่อให้ดูโดดเด่นขึ้น การเลือกใช้สีครีมทาภายนอกและภายในอาคารทำให้มองดูแล้วสบายตา ส่วนประตูที่ไม่ถูกใช้งานและถูกปิดไว้ก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเหตุใดถึงปิด เพราะในบ้านหลังนี้มีการรีโนเวทมาหลายครั้งก่อนที่มูลนิธิจะเข้ามาต่อเติม เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ภายในตัวบ้านจะเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพราะอยากรักษาสภาพโครงสร้างของบ้านให้เหมือนเดิมมากที่สุด

บ้านสิงหไคลที่มีอายุกว่าร้อยปีนี้ เป็นการผสมผสานความใหม่ที่ยังคงมีกลิ่นอายของความเก่า ซึ่งทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นเสมอเมื่อเดินเข้าบ้านมา


ผู้เขียน: นางสาว สิริประภา ติ๊บโคตร โรงเรียนเชียงของวิทยาคม
ผลงานจากการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผลิตเรื่องเล่าสำหรับเยาวชน โครงการเล่าเรื่องแม่น้ำโขง เฟส 2
Mekong Storytelling Phase II: Empowering Young Local Storytellers

Message us