Stir Fry “อาหารจานผัด” ขึ้นชื่อว่าเร็ว ร้อน อร่อยและเอเซียสุดๆ

ต้องเข้าใจก่อนว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศเกิดใหม่ เจ้าของแผ่นดินต้นสาแหรกคือชาวอะบอริจิน ส่วนเชื้อชาติอื่นๆคือผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามา ฉะนั้นพลเมืองจึงหลากเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อและศาสนา คนเอเซียรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาคือคนจีน มาเป็นแรงงานทำเหมืองทอง รุ่นสองคือชาวเวียดนามและกัมพูชาที่หนีสงครามอินโดจีน นอกนั้นคือ มาแต่งงาน มาเรียนต่อ มาทำธุรกิจ หรือหนีปัญหา หนีความยากจน หนีสงคราม บลาๆๆๆๆๆ หวังมาสร้างอนาคตใหม่ในออสเตรเลีย

ออสเตรเลียจึงประกาศตัวเองเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งกฏหมายและนโยบายสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างชัดเจน แต่คำถามคือ กฏมายและนโยบายเหล่านั้น มันมีปัญหามั้ย? หรือจะพูดให้บวกขึ้นมาหน่อยคือ มันสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้มั้ย? จึงเป็นที่มาของ Stir fry ละครถกแถลง เรื่องแรกในออสเตรเลีย เพื่อเลาะปมสังคมพหุวัฒนธรรมออกมาถกกัน

25359753_868587343311240_35665056_n

ละครเปิดเรื่องที่งานเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมอาเซียน มีการแสดงฟ้อนรำโดยอ้อยและดาว สองแม่ลูกชาวไทย มีดนตรีชวาบรรเลงโดย ญานติ ศิลปินอินโดฯ มีผู้มาร่วมงานมากมาย(ผู้ชม) รวมถึงสตีฟหนุ่มใหญ่ชาวออสซี่ผู้หลงรักเอเซียและมโนฮาร่า สาวนักเคลื่อนไหวเรื่อง people of color จุดกระทบเรื่องเริ่มขึ้น.. เมื่อสตีฟปรบมือชื่นชมการแสดงและหันไปคุยกับมโนฮาร่าว่า” ผมภูมิใจในออสเตรเลียมาก เรามีสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง โดดเด่นแถวหน้าของโลก ” แต่เธอกลับตอบว่า “ฉันเบื่อคำว่า พหุวัฒนธรรม มันเป็นแค่วาทกรรม เอาเข้าจริงคนขาวก็มีอภิสิทธิ์เหนือเชื้อชาติอื่น” จากงานรื่นเริงก็พลิกไปสู่งานเครียด….. โดยละครค่อยๆทะยอยทิ้งปม ทิ้งคำถามให้ค้างใจคนดู เช่น เรื่องความตื้นเขินของพหุวัฒนธรรม ความน่ารำคาญของพวก PC คนเอเซียที่ถูกมองว่าเอาแต่ทำมาหากินไม่สนใจการเมืองและชอบโกงภาษี การเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ อภิสิทธ์ชนคนขาวที่กีดกันไม่ให้คนเชื้อชาติอื่นได้รับโอกาส ฯลฯ ปมเหล่านี้ถูกหยอด ถูกโยน ถูกยั่วไว้ในละคร และสุดท้ายขมวดปมเขม็งเกลียวทั้งหมดแล้วโยนโครม!!ให้คนดูถกกัน

จำได้ว่า หลังละครจบ คนดูยกมือแสดงความคิดเห็นกันพรึ่บ!! ต้องจัดคิวกันรัวๆ เห็นได้ชัดว่าเขามีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ เวลาแสดงความคิดเห็นจะมีการอ้างอิงข้อมูล หลักฐาน ไม่มโนเอาเอง เวลาถกกันก็เผ็ดร้อนสุดๆแต่ไม่ฟูมฟาย ที่สำคัญบ้านเขาไม่มีปัญหาเรื่อง free speech มันถกกันได้ลึกถึงต้นตอปัญหาไม่ใช่บ้านเราที่ถกลึกลงไปจนเจอ(ต้น)”ตอ” ก็จำต้องรูดซิปปากเซนเซอร์ตัวเอง แต่วัฒนธรรมเชิงปัญญาแบบนี้ ไม่มีใครประทานให้นะคะๆ อยากได้ก็ต้องลงทุนปลูกสร้างกันมโหฬาร ที่ออสเตรเลียมันผ่านการปลูกฝังให้อยู่ในระบบครอบครัว ระบบการศึกษา ระบบการเมือง และสารพัดระบบในสังคม มันถึงได้แตกดอกออกผล แตกปัญญาให้สังคมได้เก็บเกี่ยว

25323645_868589619977679_542827949_n

หน้าที่ของละครถกแถลงในวันนั้น ก็เลยไม่ต้องเข็นให้คนดูพูด(แบบบ้านเรา) ไม่ต้องอัดข้อมูลเพราะเขาเป็นสังคมการอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ ตัวละครก็แค่พยายามบาลานซ์ให้ได้ยินเสียงทุกฝ่ายบนเวที เพราะหลักการของละครถกแถลงไม่ใช่การเอาชนะ แต่คือการได้ฟังเสียงของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน

ละครถกแถลงค่อยๆเสริฟขึ้นโต๊ะที่ออสเตรเลีย หลายคนอาจแปร่งลิ้นเพราะรสชาติยังใหม่ แต่บางคนเริ่มติดใจ ผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า ละครถกแถลงเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่น่าสนใจในศตวรรษนี้ ศตวรรษที่ผู้คนแบ่งแยกและหันหลังให้กัน

ละครถกแถลงค่อยๆเสริฟขึ้นโต๊ะที่ออสเตรเลีย หลายคนอาจแปร่งลิ้นเพราะรสชาติยังใหม่ แต่บางคนเริ่มติดใจ ผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า ละครถกแถลงเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่น่าสนใจในศตวรรษนี้ ศตวรรษที่ผู้คนแบ่งแยกและหันหลังให้กัน

25323537_868591493310825_718454348_n

Free Theatre เป็นกลุ่มละครที่ก่อตั้งโดย ดร.ริชาร์ด บาร์เบอร์ และ คุณจ๋อน สมาชิกมะขามป้อมสาขาออสเตรเลีย ผู้พัฒนา”ละครถกแถลง Dialogue Theatre” ละครเพื่อสร้างพื้นที่กลางของวงสนทนา เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้ง ที่ผ่านมามีผลงาน “ละครถกแถลง” ได้จัดแสดงและทำหน้าที่สร้างบทสนทนาไป 5 เรื่อง ทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย ในประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานในการรักษาสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ ประชาธิปไตย ความขัดแย้งทางการเมือง ชนกลุ่มน้อย และอีกหลากหลายประเด็น