งานสร้างฐานการเรียนรู้ชุมชนเชียงดาว
Chiangdao Learning Space เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้
โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกับคุณครู เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา และผู้ประกอบการในอำเภอเชียงดาว โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนัก 4 สสส มีกลุ่มเป้าหมายทดลองนำร่องกับ 3 โรงเรียนในอำเภอเชียงดาว ได้แก่ โรงเรียนบ้านทุ่งหลุก โรงเรียนบ้านทุ่งละคร และ โรงเรียนบ้านวังจ๊อม
เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ เป็นหลักสูตรบูรณาการระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ มุ่งพัฒนา”พื้นที่แห่งการเรียนรู้” เพื่อชูแนวคิด“เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่ให้ผู้เรียนศึกษาองค์ความรู้ภายนอกโรงเรียนร่วมกับชุมชนในการสร้างสถานีการเรียนรู้ (Learning Station) โดยพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายชุมชน พื้นที่ทางวัฒนธรรม ทักษะอาชีพต่าง ๆ ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้สามารถเป็นผู้นำกระบวนการ สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะความเข้าใจในศาสตร์การเรียนรู้ที่ตนเองเชี่ยวชาญให้กับเด็กในโรงเรียน เกิดรูปแบบการเรียนภายนอกห้องเรียนร่วมกับสถานีการเรียนรู้ ( Learning Station) โดยครูผู้สอนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อยกระดับให้ครูสามารถเป็นผู้ออกแบบจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ และเด็กสามารถนำประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนนี้ไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต สำหรับโครงการนี้เป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่สามารถร่วมกันสนับสนุนการเรียนรู้บนวิถีความปกติใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนทำงานต่อเนื่องภายในชุมชนอำเภอเชียงดาว ให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการละครโรงเล็ก-ห้องเรียนชุมชน
เป็นกิจกรรมบริการชุมชน ที่มะขามป้อมจัดขึ้นทุกเดือน ให้กับเด็กๆและโรงเรียนในชุมชน ได้มีโอกาสใช้พื้นที่เชิงศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความแตกต่างของกลุ่มคนต่างๆในชุมชนตั้งแต่วัยเยาว์ ขณะนี้กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากเด็ก ผู้ปกครองโรงเรียน ในชุมชนเป็นจำนวนมาก
หากท่านสนใจสนับสนุนกิจกรรมในโครงการนี้ สามารถสมัครเป็นอาสาสมัครอ่านนิทานหรือ สอนศิลปะเด็ก บริจาคหนังสือนิทานของท่าน หรือ ทุนทรัพย์ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการ
กลุ่มกายกรรมเด็กปางแดง
กลุ่มมะขามป้อมเชียงดาวยังคงทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งมีเด็กชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งจากหมู่บ้านปางแดงนอก คือ กลุ่มกายกรรมเด็กปางแดง เด็กกลุ่มนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของการเล่นกายกรรมเพราะเด็กมีศักยภาพแต่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดสื่อสารออกมา ทำให้ตัวผู้ทำงานละคร หรือศิลปะ สนใจที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานละครแบบใหม่ขึ้นโดยใช้กายกรรมเป็นการสื่อสาร เนื่องด้วยปีนี้ไม่มีโปรเจกต์ละครเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์โควิดและเด็กรุ่นเก่าเริ่มจบปีการศึกษาประถมหก ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนเด็กรุ่นใหม่เข้ามาในกลุ่ม ฉะนั้นจะเห็นการฝึกฝนทักษะกายกรรมขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อยๆ เห็นเด็กมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีวินัย มีความรับผิดชอบและที่สำคัญการรวมกลุ่มเด็กกายกรรมปางแดงก็เป็นการลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนและชุมชนได้อีกด้วย
โครงการอ่านยกกำลังสุข: สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในกลุ่มชาติพันธุ์
มะขามป้อมทำงานรณรงค์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่อำเภอเชียงดาวมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในอำเภอเชียงดาว ทั้งศูนย์เด็กเล็ก กลุ่มพ่อแม่ โรงเรียนประถม ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และ อสม นอกจากนั้นยังพบว่าปัญหาของการทำงานรณรงค์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ มักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเมื่อทำกิจกรรมร่วมกับแกนนำที่เป็นคนพื้นราบ จึงประสานกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเชียงดาว ร่วมกันออกแบบโครงการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์
อสม.นักสื่อสารสุขภาพ (โควิด 19)
มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและความเท่าทันต่อโรคโควิด-19 ให้กับประชากรชาวเชียงดาว ทั้งชนพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เกิดความตระหนักรู้ที่นำไปสู่การดูแลตนเองได้ ดำเนินงานใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลเชียงดาว ตำบลทุ่งข้าวพวง ตำบลเมืองงาย และตำบลแม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน โครงการได้หนุนเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 พื้นที่ ด้วยการผลิตสื่อที่ทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการสื่อสารให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ใช้งานในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น พร้อมทั้งอบรมเพิ่มเติมทักษะการสื่อสารเชิงบวกที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจในภาวะวิกฤติให้กับเจ้าหน้าที่ อสม. ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงด้วยความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอเชียงดาว โรงพยาบาลสุขภาพตำบลในพื้นที่ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ อสม. รวมทั้งเจ้าของกิจการร้านอาหารประชาชนทั่วไปและในอำเภอเชียงดาว สนับสนุนโดย U.S. Department of State (U.S. Consulate General Chiang Mai)
ทางโครงการได้ผลิตชุดความรู้ที่เข้าใจง่ายใช้สื่อสารทำความเข้าใจและส่งต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ให้กับประชากรในชุมชนได้ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือสื่อสารเชิงบวก “เทคนิคการสื่อสารอย่างใส่ใจและมีส่วนร่วมกับชุมชน”
- สื่อที่ 1 : Booklet ชุดข้อมูลที่ช่วยในการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่โดยมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการเพื่อส่งต่อติดตั้งเครื่องมือในการสื่อสารเชิงบวกเทคนิคการสื่อสารอย่างใส่ใจและมีส่วนร่วมกับชุมชนร่วมกับแกนนำเจ้าหน้าที่อสม.
- สื่อที่ 2 : Voice clip 7ภาษาในเขตอำเภอเชียงดาวที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นเกี่ยวกับโควิด-19
- สื่อที่ 3 : Tent Card เป็นการสื่อสารข้อมูลการดูแลตัวเองในพื้นที่ร้านอาหาร
โควิด อสม.จิ๋ว
พัฒนาต่อยอดมาจากกลุ่มอสม.ในพื้นที่ตำบลทุ่งข้าวพวง เพราะทางรร.มีกลุ่มยุวฯอสม.หรือเรียกง่ายๆว่าอสม.จิ๋ว ดูแลเรื่องสุขภาพเบื้องต้นหรือโรคต่างๆที่เกิดขึ้น ที่ทำให้เด็กสามารถสื่อสาร สังเกตเห็น ลงมือปฏิบัติได้ ทางทีมทำงานเห็นความสนใจ จึงได้มีการจัดการประชุมวางแผนออกแบบการทำงานร่วมกับกลุ่มอสม. 4 พื้นที่ในอำเภอเชียงดาว ได้แก่ ตำบลเชียงดาว ตำบลทุ่งข้าวพวง ตำบลเมืองงาย ตำบลแม่นะ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชียงดาว ได้เห็นแต่ละพื้นที่มีไอเดียการออกแบบงานที่แตกต่างกันไปและเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการทำงานให้กับกลุ่มอสม.เพิ่มมากขึ้น