คนเป็นครูอย่าขโมยความคิดสร้างสรรค์ไปจากเด็ก ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้มัน เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
หลายครั้งเรามักได้ยินสังคมพูดว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องพรสวรรค์ มันสอนกันไม่ได้” แต่แวดวงการศึกษาในปัจจุบันกลับเรียกร้องให้เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ เรียกร้องให้เด็กต้องคิดสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่รูปแบบการสอนและทรัพยากรที่จะทำให้เขาเติบโตกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลง บทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จัก “การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์” ที่จะช่วยผ่าทางตันของการศึกษาไทย โดย คุณพฤหัส พหลกุลบุตร หรืออาจารย์ก๋วย และคุณธนาวัฒน์ รายะนาคร ทีมกระบวนกรจากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ภายใต้โครงการก่อการครู โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ?
จากมุมมองของ Sir Ken Robinson นักการศึกษาที่ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า
มนุษย์โดยปกติมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวตั้งแต่กำเนิด แต่มันถูกฆ่าตายเมื่อเข้าถึงระบบการศึกษา การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่การวัดผลการศึกษา แน่นอนอาจมีเด็กที่รอดจากระบบ แต่เด็กจำนวนมากกลายเป็นผู้แพ้ในระบบ หายไปจากระบบ ระบบการศึกษามันกำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
ทำไมโลกของเด็กกลับยิ่งมืดลงด้วยตรรกะของผู้ใหญ่ ความคาดหวัง และการประเมินผลค่าของเด็กคนหนึ่งผ่านตัวเลข โดยไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นปัญหาของการศึกษาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
แน่นอนว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่สามารถจะบอกขั้นตอนให้เด็กรู้ถึงกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ได้ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีหลักสูตรตายตัว มันไม่ใช่วิชาการ ไม่ใช่ความรู้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ คือ ทักษะที่สามารถฝึกกันได้ และมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะเด็ก
เนื่องจากความเป็นเด็กคือ ความเป็นไปได้นับอนันต์ จินตนาการที่ไร้ขอบเขต แต่เมื่อพวกเขา (และเรา) โตขึ้น ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการกลับถูกทำลายด้วยตรรกะแห่งโลกและประสบการณ์ที่เติบโตมา
กล่าวให้ถึงที่สุด ยิ่งเราโตขึ้น เรายิ่งถูกตอกย้ำว่า ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่มันแทรกเข้ามาในหัวคุณระหว่างที่คุณกำลังทำกิจกรรมอะไรบางอย่างอยู่ หรือแม้กระทั่งตอนที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ความคิดเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระ คุณจึงไม่อนุญาตให้มันปรากฏขึ้นมาบ่อยนัก แต่เมื่อโลกเรียกร้องให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น หน้าที่ของคนเป็นครูและผู้ทำงานด้านการศึกษาคือ การสร้างบรรยากาศให้เด็กได้สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ มันไม่ใช่การสอนให้คิดอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์ แต่เป็นการสร้างบรรยากาศและสร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ
แล้วฉันจะสร้างสภาวะเหล่านั้นได้อย่างไร?
การจะสร้างห้องสี่เหลี่ยมแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เครื่องมือและกระบวนการ เพื่อปลูกนิเวศแห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ด้วยหลักการง่ายๆ 3 ก. ดังนี้
ก. แรก คือ ก. เกม เกมเป็นสื่อกลางที่จะช่วยทำให้เด็กฝึกทักษะในด้านต่างๆ ซี่งเกมต้องทำให้เด็กสนุกและได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาเชิงวิชาการหนักๆ ก็ได้ เกมจะทำให้เด็กกล้าที่จะแสดงสิ่งที่อยู่ในใจ ความเป็นตัวเขาออกมาผ่านการเล่นเกม โดยที่คุณครูก็ร่วมเล่นไปกับนักเรียนเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับเรา โดยใช้เกมเป็นสื่อกลางระหว่างความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย
ขยับต่อมาที่ ก. ที่สอง คือ ก. กิจกรรม กิจกรรมเป็นเสมือนสมการของ เกม+เนื้อหา เป็นเสมือนพื้นที่ให้พวกเขาได้นำทักษะที่เรียนรู้ผ่านเกมมาใช้ในการทำกิจกรรม เมื่อพวกเขาสนุกและปลอดภัย เมื่อนั้นพวกเขาจะจดจำความรู้ ความเข้าใจ และเนื้อหาด้วยหัวใจ ไม่ใช่ด้วยสมอง ซึ่งการจดจำด้วยหัวใจเป็นเนื้อเป็นตัวเขา จะมีผลยาวกว่าการจดจำด้วยสมองอย่างมาก การเรียนรู้ผ่านเกมและกิจกรรมมันวิ่งอยู่บนฐานสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วย ความสนุก สาระ และความสร้างสรรค์ บนฐานของการทำกิจกรรม 3H คือ Head, Hand และ Heart
ก. สุดท้าย คือ กระบวนการ เกมและกิจกรรมหลายครั้งไม่สามารถอยู่อย่างโดดๆ ได้ หากเราจะออกแบบให้กลายเป็นเกมและกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ เราจำเป็นที่จะต้องร้อยเรียงให้มีเป้าหมายแห่งการเล่นเกมและกิจกรรม เช่น คุณต้องการให้เด็กเข้าใจเรื่องหน้าที่พลเมือง คุณจะต้องร้อยเรียงเกมและกิจกรรมที่ผลสุดท้ายมันจะตอบโจทย์เรื่องหน้าที่พลเมือง เราเรียกการร้อยเรียงนี้ว่า ‘กระบวนการ’ สิ่งสำคัญของการร้อยเรียงกิจกรรมและเกมจะต้องคำนึงถึงสามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาข้างต้น และผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมกันอย่างถ้วนหน้า เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง ความเข้าใจที่อยู่ในเนื้อในตัวของเขา พื้นที่ตรงนี้จะเร้าให้เกิดการแก้ปัญหา เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ของกิจกรรม เป็นเสมือนพื้นที่จำลองให้พวกเขาได้ทดลองใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มาจากกระบวนการที่เราสร้างขึ้นได้
เวลาที่เราเป็นนักออกแบบกระบวนการ จะมีปัญหาเหมือนเราหมดมุก เราจะต้องเรียนรู้ใหม่ เกมมันเป็นเรื่องของการสร้างที่พื้นที่ปลอดภัย เราจะเอาเกมมาสร้างการเรียนรู้ได้ไหม เราไม่จำเป็นต้องดีไซน์เกมออกมาให้พิสดาร เอาเกมที่เข้าใจง่ายๆ มาประยุกต์ใช้ก่อนในช่วงแรก จากเกมเพื่อความสนุกก็จะพัฒนาไปสู่เกมที่เล่นเพื่อการเรียนรู้
ความคิดสร้างสรรค์ราคาเท่าไหร่?
หลายคนอาจบอกว่า การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์มีราคาที่แพงเกินไป ต้นทุนในการหาซื้อสี กระดาษ ชุดเสื้อผ้า และอุปกรณ์มันต้องลงทุนไม่ใช่น้อย ซึ่งไม่เป็นความจริงเสียเลย เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณหลุดออกจากข้อจำกัดต่างๆ มิใช่หรือ
กิจกรรมบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว เช่น กิจกรรมการต่อตัวให้เป็นรูปภาพ ซึ่งครูที่เข้าอบรมห้องเรียนการออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ได้ทดลองทำดู โดยให้แบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มละ 6-8 คน จากนั้นจับสลากชื่อสถานที่แล้วให้ครูลองใช้ร่างกายของครูเรียงกัน ต่อกัน อย่างไรก็ได้ให้ภาพมันสื่อถึงสถานที่นั้นๆ
ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีราคา และคุณไม่ต้องซื้อ เพราะมันอยู่ในเนื้อในตัวของมนุษย์ทุกคน เพียงแต่คุณต้องลองอนุญาตให้ตัวเองทำในสิ่งที่คุณคิดว่ามันไร้สาระ หยิบสิ่งของที่คุณมีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นสิ่งใหม่ คุณต้องมองเห็นการดัดแปลง การผสมผสาน และการคิดทดแทนได้ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า SCAMPER Techniques
เราไม่จำเป็นต้องซื้อสิ่งของใหม่ๆ เราแค่ต้องรู้จักประยุกต์สิ่งของที่เรามีอยู่แล้ว สิ่งของที่เราไม่ได้ใช้ จับนั่นผสมนี่ออกมาให้เป็นชิ้นใหม่ๆ ฝึกให้เด็กลองใช้จินตนาการของเขาอย่างไร้ขอบเขต นั่นแหละคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’
เมื่อทักษะการละครสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน
อีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณครูสามารถดึงความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนออกมาได้มากที่สุด คือ การใช้ทักษะการละครเข้าไปช่วย ลองให้นักเรียนแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก โดยเริ่มจากการทำกิจกรรมให้แสดงอารมณ์ออกมาผ่านท่าทาง แววตา และสีหน้า หรือ ลองชวนเด็กออกแบบละคร 3 ฉากอย่าง่าย โดยวางโครงเรื่อง สถานที่เกิดเหตุ ใครกำลังทำอะไรอยู่ (Start) จากนั้นเกิดอะไรขึ้นที่เป็นจุด Climax ของเรื่อง (Story) และจุดจบของเรื่องจะจบแบบใด (Stop) โดยใช้แค่ร่างกายของคนในกลุ่มไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ
กระบวนการเหล่านี้คือ Creative Drama เราไม่ได้สอนให้เด็กเล่นละครเติบโตไปเป็นนักแสดง แต่เราสามารถเอามาใช้เพื่อให้เด็กฝึกทักษะการสื่อสาร เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ดึงศักยภาพภายในของเขาได้มากกว่าการสอนทั่วไป
ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง ครูทีปกร ทีปกร อาริภู (ครูที) คุณครูจากโรงเรียนอนุบาลดำเนินสะดวก (วัดโคกบำรุงฯ) ผู้เข้าร่วมอบรม การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ ได้สะท้อนมุมมองเรื่องกระบวนการละครกับการเรียนรู้ได้น่าสนใจว่า “แทนที่เราจะสอนวิทยาศาสตร์ตามหนังสือทั่วไป ทำไมเราไม่ลองใช้กระบวนการนี้มาผนวกเข้ากับเนื้อหาที่เราสอน ละครทำให้เด็กมีจินตนาการมากกว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือ ละครมันช่วยดึงจินตนาการร่วมกับความรู้ที่เราให้ไป มันไปได้ไกลกว่าในหนังสือ เขาจะจดจำด้วยหัวใจที่มีความสุขมากกว่าจะจดจำด้วยการบังคับเหมือนแต่ก่อน”
กาลครั้งหนึ่งฉันเคยเป็นเด็กที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
เราทุกคนเคยเป็นเด็ก เราทุกคนเคยจินตนาการถึงความเป็นไปได้ เราเคยมีโลกส่วนตัวที่สามารถปลดปล่อยจินตนาการของเราออกมาอย่างไม่ต้องเกรงกลัวว่าใครจะหาว่าเราไร้สาระ คุณครูเองก็คือ เด็กที่เคยเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เคยเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ครูก็เคยเป็นเด็กคนนั้น เด็กที่มองออกไปนอกหน้าต่าง ฝันถึงพื้นที่ที่สามารถแสดงจินตนาการของเขาหรือเธอออกมาได้อย่างไม่มีสิ้นสุด แต่เมื่อโตขึ้น ระบบการศึกษาก็ค่อยๆ ทำลายความคิดเหล่านั้นพร้อมกับบังคับให้คุณมองย้อนกลับไปถึงความทรงจำเหล่านั้นว่าเป็นเพียงแค่ “เรื่องไร้สาระของเด็กๆ”
พวกเราทุกคนอาจเคยทำลายความคิดสร้างสรรค์ของใครสักคนโดยที่เราไม่รู้ตัว ผ่านการกระทำ สีหน้าที่รู้สึกผิดหวัง หรือคำพูดที่ไม่รู้ตัว บางทีมันอาจจะเกิดจากความปรารถนาดีของเรา ที่เราไม่รู้ตัวว่ามันทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กตรงหน้าเรามากแค่ไหน
ครูอำนาจ ชอ้อนชม โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล บอกว่า “เมื่อก่อนเราเคยไปจำกัดความคิดของเด็ก เช่น เราปล่อยให้เด็กดูสารคดี พอเขาไม่เข้าใจ หรือ เขาเปิดหนังสืออ่านแล้วไม่เข้าใจ เขาเดินเข้ามาถามเรา แต่เรากลับรู้สึกเหนื่อย เราเลยบอกให้เขาไปเปิดหาเอง ไม่ต้องมาถาม ครูเหนื่อย เขาผิดหวังอย่างน้อยก็ผิดหวังต่อปฏิสัมพันธ์ เขาก็ไม่อยากเปิดหน้าอื่นต่อแล้ว เขาก็รู้สึกว่าครูไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา แต่เมื่อเราลองออกแบบให้เกิดพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน แววตาของพวกเขามันเปลี่ยน เขากล้าเข้ามาหาเรา กล้าวิ่งเข้ามาถามเราว่า วันนี้มีเกมอะไรให้หนูเล่นบ้าง…”
โลกในอนาคตไม่ได้ต้องการครูที่สอนแต่ความรู้ในหนังสือ ไม่ได้ต้องการหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งค่ามาให้สอนเรื่องนี้แล้วจบไป แต่โลกในอนาคตอยากให้คุณสอนทักษะ (Skills) เด็กต้องการทักษะมากกว่าความรู้ เพราะความรู้มันมีแหล่งอื่นที่ทดแทนได้ แต่ทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในเนื้อในตัวของเด็กเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากโลกอินเตอร์เน็ต มันหาได้จากพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งคุณครูสามารถเปลี่ยนพื้นที่สี่เหลี่ยมที่เคยน่าเบื่อให้กลายเป็นระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดต้นความคิดสร้างสรรค์ได้ และแน่นอนว่า “คนเป็นครูอย่าขโมยความคิดสร้างสรรค์ไปจากเด็ก ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้มัน เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง”
“ขอให้ความคิดสร้างสรรค์จงสถิตอยู่กับท่าน”
วิทยากรกระบวนการ: ธนาวัฒน์ รายะนาคร , พฤหัส พหลกุลบุตร
โครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ก่อการครู ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ
ที่มาเนื้อหาต้นฉบับ: ผู้นำแห่งอนาคต
บันทึกกระบวนการ: การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์