เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ: ธีระพงษ์ สีทาโส
- ม.เถื่อน เกิดขึ้นจากการอยากสวนกลับระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบมหาวิทยาลัยที่พะรุงพะรังและแทบไม่มีชีวิต
- ม.เถื่อน มีทั้ง ‘วิชา talk’ ที่ชวนคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมา talk เช่น ครูละครที่ชวนคุยเรื่องการใช้ละครพูดเรื่องการเมืองในความทรงจำ, นักขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาของเด็กชายขอบ รวมถึงมี ‘วิชาทำ’ ที่มีไฮไลต์คือเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ผ่านกายและใจ เช่น เรียนทำน้ำพริก ทำขนมไทย ออกไปทัวร์กับเกษตรกรนักเคลื่อนไหว หรือใช้ศาสตร์ละครเพื่อสื่อสารและเรียนรู้
- ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาที่เคลื่อนไหวน้อย มหาวิทยาลัยเถื่อน เป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่าระบบนิเวศการเรียนรู้แบบนี้มันสนุก
1.
ม.ทง ม.เถื่อน… มันคือมหา’ลัย อะไรกัน?!
บ้านไม้สองชั้นยกสูงคือตึกเรียนหลัก ล้อมรอบด้วยตัวบ้านหน้าตาคล้ายกันร่วม 10 หลัง ต่างเพียงความยาว ขนาด ทิศทางการวางตัว และตัวเรือนที่หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดถูกแนะนำว่าตลอด 4 คืน 5 วันของการเรียนหลังจากนี้ โรงละครหุ่นจะเป็นห้องเรียนคาบ ‘เถื่อน talk’ โดยมีวิทยากรที่เชิญตัวเองมาผลัดกันสอน ผลัดกันเล่าบทเรียนชีวิต จากการงาน หรือความสนใจส่วนตัว (ที่ปีนี้มีตั้งแต่การทำงานของสื่อในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถึง การเป็นโอตะน้องๆ ไอดอล)

ชั่วโมงนี้นักศึกษาไร้ชุดฟอร์มซึ่งแตกต่างหลากหลายตั้งแต่อาชีพ วัย ความป่วยไข้ป่วยใจ อุดมการณ์ในใจเกี่ยวกับสังคม และอื่นๆ นั้น พวกเขาเลือกวิชาไม่ได้ (เพราะอยู่ที่ว่าวิทยากรอยากจะเชิญตัวเอง สมัครเข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องอะไร) ทุกคนต้องเข้าเรียนทั้งหมด แต่ด้วยเสน่ห์แห่งความเถื่อน เราก็อู้ (ได้แหละ) ไปเดินรับแดด นอน อาบน้ำ หรือ ‘ใดๆ’ ก็ได้แล้วแต่ใจต้องการ ไม่มีคนจดชื่อ ไม่มีผลต่อการตัดเกรด (เพราะไม่มีให้ตัด)
ส่วนภาคบ่าย นักศึกษาจะออกไปเรียนนอกสถานที่ที่เรียกว่าคลาส ‘เถื่อนทำ’ นอกสถานที่นี้หมายถึงระยะทางเดินเท้าตัดผืนหญ้าราบคั่นด้วยร่องน้ำไปยังบ้านของ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว บ้านมาลาดาราดาษ ของ คุณโอ๊ค-คฑา กับ คุณโรส-วริสรา มหากายี และอาจไกลขนาดต้องนั่งรถ (สองแถว) เหลืองออกไปเดินป่า หรือเข้าไปนั่งเรียนในบ้านของ ‘อาจารย์’ ผู้เป็นนักเขียนที่พำนักไกลออกไป ณ ตีนเขา ‘เชียงดาว’

เกริ่นให้ฟังอย่างอดไม่ได้ว่า คาบเรียนช่วงบ่ายนี่ ‘ฮอต’ หนัก ทุกคืนนักเรียนต้องแย่งกันลงทะเบียนด้วย platform กระดานไม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาเอาไปแอบไว้ไหนไม่รู้ โผล่มาอีกทีนักเรียนต้องวิ่งไปแย่งกันลงชื่อจับจองวิชาเรียน (ป่วนหนักยิ่งกว่ากดแย่งโควตาที่สำนักทะเบียน)
ไม่มีชุดฟอร์มนักศึกษา ไม่มีเช็คชื่อ ไม่มีรับน้อง ไม่มีผนังห้องเรียน ไม่มีแอร์คอนดิชั่น ไม่มีตัดเกรด แต่บรรยากาศการเรียนเริ่มอย่างเข้มข้น (วัดจากระดับเสียงคุยและรสชาติบทสนทนา) คลาสแรกคือ 9 โมงเช้า เลิกเรียนตามกำหนดเวลา 5 โมงเย็น และยังมีนักศึกษาจับวงธรรมชาติคุยกันถึงตี 2 ตี 3 บ้างยาวไปยันตี 5 เรียกว่าอาบน้ำแล้วกลับมาเข้า ‘เถื่อน talk’ น็อครอบอีกครั้งได้เลย




ไม่ต้องบอกก็น่าจะเดากันได้ ชื่อ ‘ม.เถื่อน’ ตั้งขึ้นจากการอยากสวนกลับระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบมหาวิทยาลัยที่รัดรึง พะรุงพะรัง และแทบไม่มีชีวิต จุดนี้ ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร หนึ่งในผู้ริเริ่มตั้งมหา’ลัยแห่งนี้ และผู้นำมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งในพรมแดนรั้ว ‘ม.เถื่อน’ นี้ผู้คนพร้อมใจกันเรียกเขาว่า ‘อธิการบดีก๋วย’ ย้อนเวลาไปเมื่อ 7 ปีก่อน เขาเล่าให้ฟังว่า…
เพราะจุดยืนของมะขามป้อมคือนักเคลื่อนไหวที่ใช้กระบวนการละครเป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนในฐานะ ‘สื่อ’ สะท้อนปัญหาชาวบ้านสู่สังคม ในช่วงปีนั้นมะขามป้อมสร้างสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เชียงดาว โดยมีเพื่อนบ้านอย่างคุณโอ๊ค-คุณโรส จากมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ที่เคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กและเยาวชนไทย และ พี่อ้อย-ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มูลนิธิโลกสีเขียว สร้างบ้านในพื้นที่ใกล้กัน

ละคร – การศึกษา – สิ่งแวดล้อม สามพื้นที่ทำงานที่เหมือนมีประเด็นตัวเองชัดเจน แต่จุดร่วมคือการขยับขับเคลื่อน ‘การเรียนรู้’ ของคน ง่ายๆ แค่นี้ แล้ว ‘ม.เถื่อน’ ก็เกิดขึ้น
“ม.เถื่อนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรากับเพื่อนที่อยู่ในวงการศึกษาเบื่อระบบ ออกไปขับเคลื่อนปฏิรูประบบแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยน ประกอบกับกลุ่มเพื่อนอย่างพี่อ้อย พี่โอ๊ค ย้ายมาอยู่ที่เชียงดาวด้วย เราเห็นว่าพื้นที่อย่างนี้มันเหมาะเป็นมหา’ ลัยจริงๆ เพราะมีความหลากหลายมาก เริ่มจากเจ้าบ้านอย่างมะขามป้อม พี่อ้อย พี่โอ๊ค เป็นโฮสต์แล้วก็ชวนเพื่อนในวงการศึกษาประมาณ 25 คนมาตั้งวงกัน แค่นี้แหละ ง่ายๆ แบบนั้นเลย คิดกันสนุกๆ แค่ว่า เธอมีอะไร ฉันมีอะไร แล้วเราเอามาแชร์กัน แต่เป็นการแชร์กันบนประเด็นการศึกษาเป็นหลัก


“จัดกระบวนการเหมือนตอนนี้เลย เช้ามี ‘talk’ วันละ 4-5 เรื่อง บ่ายก็ ‘ทำ’ ใช้ space อย่างใต้ถุน ครัว ต้นไม้ เราพบว่า space แบบนี้มันจัดได้นี่หว่า และก็ไม่สำคัญว่าวิทยากรจะเป็นใคร คุณอาจเรียนกับเด็กๆ ที่รู้เรื่องนั้นจริง จริงแท้กับสิ่งนั้นจริงๆ อย่างลิปตา (ลูกสาวของคุณโอ๊คกับคุณโรส) เรียนเรื่องแมลง กับแปลน (รามิล กังวานนวกุล) หมายถึงว่าสำหรับที่นี่ มันไม่สำคัญว่าคุณต้องจบอะไรมาหรือได้รับได้ stamp รับรองจากสถาบันใด ถอดตรงนี้ออกก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากรู้อยากเรียน จะเด็กเรียนกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรียนกับเด็ก มันข้ามสายกันไปมาไม่มีกฎเกณฑ์” อธิการบดีก๋วยเล่า

2.
วิชา talk – ที่นี่ก็เลคเชอร์กันเข้มข้นมาก ที่สนุกคือวิทยากรไม่ได้มาพร้อมตำแหน่งวิชาการในรั้วมหา’ลัย แต่เป็นคนที่ทำงานในพื้นที่นั้นอย่างแตกฉานจริงๆ แล้วเอาประสบการณ์ที่ว่านั้นมา talk กัน เช่น ครูละครที่ชวนคุยเรื่อง การใช้ละครพูดเรื่องการเมืองในความทรงจำ, นักขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาของเด็กชายขอบ, โปรเจ็คต์ feeltrip เครือข่ายการศึกษาทางเลือก, สื่อมวลชนกับการทำงานสื่อในพื้นที่ชายแดนใต้, วิธีคิดแบบผู้ประกอบการสังคมของคนรุ่นใหม่

จุดที่คิดว่าทำให้การพูดคุยมันสนุกและปลอดภัยคือ ความไม่มี ‘ยศ’ ของคนเล่า แต่ใช้ข้อมูล ประสบการณ์ และข้อเท็จจริงมาเล่านี่เองที่มันสนุกมาก มากกว่านั้น นักศึกษาก็แตกต่างหลากหลาย มีหมดตั้งแต่ หมอ นักวิทยาศาสตร์ ทนาย นักออกแบบเกม และอื่นๆ ซึ่งอีกเดี๋ยวพวกเขาอาจลุกจากคนนั่งเรียนไปเป็นวิทยากรในห้องไหนสักห้อง เรียกว่าทุกคนผลัดกันเป็นผู้เรียนผู้สอนกันถ้วนหน้า ที่ตั้งใจจะพูดหมายถึงว่า… การแชร์กลับไปกลับมาระหว่างคนเล่าและคนฟังจึงได้วิธีคิดหลากมุมไปกว่าการพูดคุยกับคนหน้าเดิมๆ ทั้งคนสอนและคนเรียนได้สร้างความรู้ใหม่ร่วมกัน

วิชา ทำ – ที่นีก็มีให้เลือกหลากหลาย (และใช้แรงหนัก) ตั้งแต่สอนทำน้ำพริกกับเจ๊หมวย-ญาดา เกรียงไกรวุฒิกุล, ออกไปเรียนเขียน ‘กวี’ ที่กระต๊อบในสวนลำไยที่มีวิวหน้าบ้านเป็นดอยหลวงเชียงดาว, ทำขนมไทยกับป้านวล-พาฝัน ศุภวานิช, ขนมปังเปลี่ยนชีวิต กับคุณโรส หรือออกไปทัวร์แบบถิ่นนิยมกับเกษตรนักเคลื่อนไหวแห่งเชียงดาวอย่างคุณมล-จิราวรรณ คำซาว, ฐานกายต่อต้านความป่าเถื่อน กับคุณตัน, การใช้ศาสตร์ละครเพื่อสื่อสารและเรียนรู้ กับครูแพท-ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ และอื่นๆ
จุดนี้ต้องไฮไลต์ไว้ด้วยว่าวิชา ‘ทำ’ ที่เปรียบเสมือนการเรียนด้วยฐานกาย เอาเข้าจริงก็มักต้องกลับเข้าไปสื่อสาร ทำความเข้าใจกับสมดุลข้างในกับโลกภายในของตัวเอง
“มันไม่ใช่การเรียนเพื่อยังชีพและทุกวิชามันเกี่ยวเข้าไปกับเรื่องภายใน เรียนทำขนมปังไม่ใช่เพื่อการขายแต่เป็นขนมปังสำรวจสภาวะภายใน เรียนละครเพื่อพูดเรื่องการ connect กับตัวเอง มันเป็นมิติที่เราเข้าใจว่าที่อื่นไม่ค่อยพูดถึง” อธิการบดีก๋วยขยายความ

ก่อนช่วยสรุปกระบวนการและหัวใจของ ม.เถื่อนว่า “สำหรับเรา ม.เถื่อน มันน่ารักและน่าสนใจอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง-setting หรือสภาพแวดล้อม มันคือธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ ครัว เราไปเรียนในอาณาเขตบริเวณเหล่านี้ เราเรียนในบ้านที่เป็น home ที่ไม่ได้เป็นห้องเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นมิตรและเข้าถึงได้ สอง-ครู ครูคือตัวจริง ไม่ได้หมายความว่าคุณมีปริญญาเรื่องนั้นนะ แต่คุณทำสิ่งนั้นจนแตกฉาน พอคุณมีความรู้จริงๆ อย่าง authentic นะ แล้วคุณถ่ายทอดจากการเล่า พาทำ มันอยู่ในเนื้อในตัวจนไม่ต้องเตรียมอะไร จะรั่วหลุดก็ไม่เป็นไรและทุกคลาสก็เป็นแบบนั้น สาม-ผู้เข้าร่วมแตกต่างหลากหลายมาก ตั้งแต่หมอ นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน สื่อ

“แล้วสองอย่างหลังนี้ยิ่งทำให้เห็นว่า subject หรือตัววิชาไม่มีความหมาย วิชาไม่มีอยู่จริง มีแค่ issue หรือประเด็น บางอย่างให้เอามา cross กันว่าการจะเรียนรู้สิ่งนั้นต้องการความรู้เรื่องอะไรมาเติมอีก ตัววิชาก็มีความหมายนะแต่ไม่ได้มากจนสำคัญที่นี่… มั้ง (เน้นเสียง)” อธิการบดีก๋วยให้ความเห็น
พอมันได้ข้ามศาสตร์-ข้ามพรมแดน ได้ลงมือทำแต่ก็ต้องคิดกับมันอย่างถี่ถ้วนลงลึก เห็นชัดเลยว่านักศึกษาจำแม่น อยากเล่าต่อ ขยายประเด็นกับเพื่อนต่อ แม้ระฆังไร้เสียงดังขึ้นในวิชาสุดท้าย แต่ทุกคนเลือกจับกลุ่มทั้งแบบธรรมชาติและจัดตั้ง พูดคุยกันต่อยาวไปตลอดคืน


3.
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนกลัวเหลือเกินว่าจะทำให้ภาพของ ม.เถื่อนดู ‘หวาน’ ราวกับเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ ‘ดีต่อใจ’ จนเกินจริง อันที่จริงต้องไม่ลืมว่าจุดเริ่มต้นและเบื้องหลังคนทำงานคือภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องหนักๆ หลายประเด็นในสังคมไทย เช่น การศึกษาของเด็กข้ามชาติ, สื่อในพื้นที่ชายแดนใต้, กระบวนการยุติธรรมในสังคม หลายองค์กรมารวมอยู่กันที่นี่ หลายๆ คนตั้งใจมาไม่ใช่แค่ต้องการขยายขอบความรู้ ถ่างมุมมองให้ไกลพ้น มองภาพกว้างไปกว่าจุดที่ตัวเองยืนอยู่ พบปะคนทำงานกลุ่มอื่นๆ เพื่อหาลู่ทางทำงานร่วมกันในอนาคต…
ไกลกว่านั้น อาจารย์โอ๋-ผศ. ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พาลิเกไปโกอินเตอร์ ใช้คำว่า นักศึกษากลุ่มนี้ขอมา retreat, rethink (ทิ้ง), re-ปิ๊ง และ re-เพลิน

“กลับมาครั้งที่ 3 แล้วกับ ม.เถื่อน คิดว่าเสน่ห์ของมันคือการได้กลับมาสำรวจตัวเองนะ เป็นวิชาที่ได้ทั้ง doing คือการทำ และก็รู้จัก being ของตัวเอง เรียกว่าตรงนี้เป็นอีกหนึ่งมหา’ลัย ปลูกปัญญาก็ได้ และมันเป็นการสร้างปัญหาบนความปลอดภัยน่ะ คนที่อยู่ตรงนี้มันหลากหลายมาก แตกต่างทั้งอายุ อาชีพ จริต ความคิดเห็นทางสังคมที่แตกต่าง วงคุยมันไม่ได้ไฮไลต์ความคิดที่แตกต่าง แต่เอาความคิดนั้นมาดู มาคุย มาเรียนรู้กัน ไม่มีอันตราย ไม่มีผิด อะไรที่ไม่เข้าท่าเราก็ช่วยกัน
“เราชอบคิดว่าการเรียนรู้ต้องผ่านฐานหัว ผ่านสมอง แต่การเรียนรู้มันเป็นไปได้ทั้งหมด เราเรียนรู้ผ่านการทำขนมปัง, ผ่านการทำเส้นอุด้งจากเด็ก 5 ขวบ, กลับไปเปิด senses ทั้ง 5 กับพี่อ้อย มันทำให้เราได้ retreat, rethink ซึ่งก็คือได้ ‘ทิ้ง’ คุณค่าบางอย่างที่มันรุงรังยึดถือ แล้ว re-ปิ๊ง ใหม่ ผ่านการเรียนรู้แบบเพลิดเพลิน ซึ่งก็ได้ re-เพลิน ด้วย” ครูโอ๋กล่าว

หรืออย่าง พี่แจง-ฐิตินบ โกมลนิมิฐิ สื่อมวลชนรุ่นบุกเบิกที่ลงไปลุยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในนักศึกษาม.เถื่อนปีที่ 7 หรืออาจต้องบอกว่าเป็นนักศึกษาเก่าก็ได้เพราะเธอกลับเข้ามาเรียนที่นี่เป็นครั้งที่ 5 แล้ว พี่แจงแชร์ให้ฟังว่าตลอดการเป็นนักข่าว เธอถูกสอนให้ทำงานบนฐานข้อมูล ซึ่งในสมการของข้อมูลนั้นไม่เท่ากับความรู้สึก ไม่สิ… เธอทำงานบนฐานความรู้สึกแต่เป็นความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง การเป็นผู้รับฟังปัญหา เรียบเรียง และมีหน้าที่ขับเคลื่อน หลายครั้งทำให้หัวใจของคนทำงานหนักอึ้ง พื้นที่ตรงนี้ โดยเฉพาะการติดเครื่องมือสื่อสารด้วยศาสตร์การละคร ช่วยทำให้เธอได้กลับทบทวนตรวจสอบความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งสำคัญมากในภาวะที่สถานการณ์ทางสังคมราวกับไม่เคลื่อนไหว

“ม.เถื่อน หรือ มะขามป้อมให้เครื่องมือเรากลับมาตรวจสอบตัวเอง เช็คความรู้สึกของตัวเองนะ มากกว่านั้น การมาตรงนี้ทำให้เราเจอเพื่อน เจอเครือข่ายขยายผลงานหรือส่งต่อประเด็นที่เราทำงานอยู่ เช่น เราได้เล่า ได้อธิบายสถานการณ์ผู้หญิงแบบ on ground จากในพื้นที่จริงๆ”
ขณะที่อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่อย่าง โบ๊ท-วิษณุ กุลทวีวุฒิ จาก RISE Impact บริษัทผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่มาเป็นนักศึกษา ม.เถื่อน เป็นครั้งแรก แชร์ให้ฟังว่า…
บรรยากาศที่ชอบในมหา’ลัยแห่งนี้คือการได้มาแวดล้อมอยู่กับคนทำงานทางสังคมจริงๆ และจากหลากหลายองค์กร ชอบที่ได้ฟัง ‘เบื้องหลัง’ ได้ฟัง ‘ความรู้สึก’ ของคนทำงาน ได้เห็นเครือข่าย ได้เห็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ ‘ไร้ฟอร์ม’ ทั้งหมดนี้โบ๊ทสะท้อนว่าเป็นพลังงานดีๆ ที่ทำให้เขาอยากขยายขอบ ทั้งขอบงานและขีดจำกัดความกลัวของตัวเองออกไปทีละนิดๆ
การได้ retreat พักผ่อนจากการทำงานหนักๆ กลับมาสำรวจชุดคุณค่าที่ตัวเองเคารพนับถือ ปลดสัมภาระบางอย่าง ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าคนทำงานอื่น ส่งกำลังใจในรูปการสะท้อนความหมายต่อการดำรงอยู่ในการทำงานของเพื่อนๆ ทั้งหมดนี้เราคิดว่ามันคือพลังงานดีๆ ที่ ม.เถื่อนช่วยกันสร้างและส่งต่อให้กัน – หลายคนสะท้อนกันไว้แบบนี้

4.
วันแรกที่มาถึง เราไม่เข้าใจรูปแบบ-ฟอร์ม การเรียนรู้ที่มหา’ลัยเถื่อนๆ แห่งนี้เซ็ตขึ้น รู้แค่ว่าที่นี่คร่ำหวอดไปด้วยคนเก่ง คนจริง จริงที่หมายถึงเขา authentic กับหน้างานและความเชื่อของตัวเอง เราในฐานะคนทำงานที่ออกสตาร์ทไม่ถึง 4 ปี ไม่รู้จะมีอะไรไปแลกเปลี่ยนกับเขา
เปล่า เราไม่ได้ดูถูกตัวเองว่าไร้คุณค่า แต่จะบอกว่าเชื่ออย่างที่อธิการบดีกล่าวเอาไว้ “แม้กับเด็กที่เพิ่งเริ่มเข้ามา เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่ใช่แค่เขาได้สนุกกับบรรยากาศของวง แต่จะถูกขยับ ถูกเขย่าให้ชัดเจนขึ้นด้วย”
ตรงนี้ทำให้คิดถึงคำของโบ๊ท “มันเป็นการเรียนรู้แบบไร้ฟอร์ม แต่สิ่งแวดล้อมหรือ ecosystem มันดีมากนะ มันผลักให้เราอยากขยายขอบตัวเองออกไปทำอะไรที่ท้าทายและใหญ่ขึ้น”

“ในขณะที่โลกมันถูก disrupt สถาบันการเรียนรู้จะล้มแหล่ไม่ล้มแหล่ มันไม่มีอะไรมารองรับเลย ซึ่งพี่คิดว่าการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่แค่ที่นี่นะ แต่อย่างกลุ่มรักษ์เขาชะเมา (คนทำงานเรื่องการเรียนรู้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยอง) กลุ่ม feeltrip หรือกลุ่มการเรียนรู้อื่นที่ถูกบอกว่ามันเป็นการเรียนรู้สร้างสรรค์ทางเลือกเชิง alternative พี่ว่ามันต้องไม่ใช่ alternative แล้ว แต่ต้องถูกยกเป็นสถาบัน ต้องยกระดับขึ้นมาและถูก accredit ด้วย” อธิการบดีก๋วยกล่าว
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาที่เคลื่อนไหวน้อย เราขอเป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่าระบบนิเวศการเรียนรู้แบบนี้มันสนุกและทำงานกับนักศึกษาเถื่อนๆ อย่างเรามากกว่าจริงๆ

เนื้อหาต้นฉบับจาก The Potential