ได้รับเกียรติจากกลุ่มละครมะขามป้อมให้ร่วม “เดินสาย” เพื่อสังเกตการอบรมและแสดงละครถกแถลงตั้งแต่ครั้งยังเป็น “ดราม่าสัญจร” มาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ มิติทางด้านสังคมจากเนื้อหาของละคร กระบวนการละคร และผู้เข้าร่วมโครงการในหลายแง่มุม ท่ามกลางภาวะทางสังคมที่มีลักษณะทั้ง “พูดไม่ได้” “ไม่กล้าพูด” และ “ไม่มีโอกาสพูด” จึงอยากแบ่งปันข้อสังเกตบางประการว่าแท้จริงแล้วชีวิตอาจไม่ใช่ละครอย่างที่นักวิชาการและใครหลายคนว่าไว้ ทว่าละครต่างหากคือชีวิต คือความเป็นจริงของโลกทางสังคมที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่และต่างเข้าร่วมเล่น “ละคร” เรื่องนี้ด้วยกัน เขียนบทและตีความร่วมกัน สื่อสารกัน เพื่อสร้างความหมายแก่ชีวิตท่ามกลางความแปลกแยกและความอิหลักอิเหลื่อจากภาวะทางสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง โดยหวังว่าจะเป็นกุญแจไขไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นในอนาคต

เพื่อความเหมาะสมในการสื่อสารผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้เขียนจะแบ่งการนำเสนอออกเป็นสี่ตอนคือ ตอนที่ 1 เครื่องมือละคร(น่าจะ)ช่วยได้ ว่าด้วยบทนำ บริบททางสังคม และการนำละครมาใช้ในฐานะของเครื่องมือ ตอนที่ 2 คนละคร ละครคน ว่าด้วยการเตรียมประเด็นปัญหา เตรียมบท และเตรียมคน เพื่อสร้างเครื่องมือละคร ตอนที่ 3 ออกโรง ว่าด้วยประสบการณ์ในการแสดงและการอบรมแต่ละพื้นที่ ตลอดจนบทเรียนที่น่าจดจำ ตอนสุดท้าย ละครจบไม่ใช่แค่ปรบมือ ว่าด้วยองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างละครกับคำอธิบายทางมานุษยวิทยา ความอิหลักอิเหลื่อจากภาวะสังคมไทย

“ละครคือพื้นที่ปลอดภัย เพราะสามารถแทรก เรื่องเล่น และ เรื่องจริง ได้อย่างซับซ้อนไม่จำกัด”

ความอิหลักอิเหลื่อจากภาวะสังคมไทยที่นำไปสู่ประเด็นในการทำละครถกแถลงในครั้งนี้มีสองลักษณะคือ

ประการแรก อคติทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มานานในสังคมไทยจนกระทั่งกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ ทั้งในระดับปัจเจก และระดับสังคมจนบดบังความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าของสิทธิ์เอง นานเข้าจึงกลายเป็นความเคยชินและพยายามอยู่กับมันให้ได้ ไม่ทราบว่าจะพูดหรือสื่อสารอย่างไร พูดไปแล้วจะมีผลร้ายต่อตนเองหรือไม่ ประการที่สอง สิทธิในการแสดงความคิดและการกระทำที่แตกต่างที่เกิดขึ้นจากการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อสีต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งราวเดือนเมษายนปี 2553 เมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงและกลายเป็น “พฤษภาเลือด ปี 53” ทำให้ผู้คนที่สูญเสียหรือรู้สึกว่าสูญเสีย เกิดการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนจนยากที่จะประนีประนอมหรือพูดคุยกันได้ ความรู้สึกว่า “เป็นคนละพวก” ได้เข้าไปเกาะกุมกระทั่งความรู้สึกและรสนิยมของผู้คน เช่น ไม่อยากสวมเสื้อสีดำเพราะไม่ชอบคนที่สังกัดสีดำ(ทั้งที่เคยชอบสีดำ) ในครอบครัว ในกลุ่มคนที่สนิทก็เลือกที่จะพูดคุยในหัวข้ออื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะทางความคิด ดังนั้นความอิหลักอิเหลื่อทั้งสองประการดังกล่าวจึงมีจุดร่วมอยู่ที่ความไม่เข้าใจกัน อันเกิดจากการขาดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น

เครื่องมือละคร(น่าจะ)ช่วยได้
ด้วยความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “ละครคือพื้นที่ปลอดภัย” เพราะสามารถแทรก “เรื่องเล่น” และ “เรื่องจริง” ได้อย่างซับซ้อนไม่จำกัด (สนใจประเด็นนี้โปรดดูใน ละครโทรทัศน์: พลังอำนาจของความไร้สาระ กาญจนา แก้วเทพ บรรณาธิการ) ทำนองว่า “เหมือนจะเล่นแต่จริง” ละครถกแถลงจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหา สำหรับประเด็นแรกที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ประเด็นเย็น” กลุ่มละครมะขามป้อมเลือกที่จะบอกเล่าผ่านเหตุการณ์ที่คนชาติพันธุ์ซึ่งเป็น “ด่างด้าว” เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐแล้วได้รับการปฏิบัติที่เกิดจากการเข้าใจผิดจนตัวละครดังกล่าวต้องเสียชีวิต นำออกแสดงและสัญจรไปในเขตภาคเหนือในนาม “ดราม่าสัญจร” โดยการประสานงานของเครือข่ายในพื้นที่นั้นๆ ผู้ชมส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข นักศึกษา และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ ส่วนประเด็นที่สอง อันถือเป็น “ประเด็นร้อน” ในขณะนั้น มะขามป้อมได้หยิบยกเรื่องราวความขัดแย้งในดาวโอร่ามาล้อไปกับปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในขณะนั้น ให้ตัวละครเป็นตัวแทนของคนที่มีความเห็นแตกต่างและพยายามยืนอยู่บนหลักการของตัวเองโดยไม่ฟังเสียงของผู้อื่น ขยายขอบเขตการแสดงไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดอบรมละครถกแถลงให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการด้วย ผู้ชมและผู้เข้าร่วมโครงการในคราวนี้จึงหลากหลายมากกว่าโครงการดราม่าสัญจร โดยที่ยังเน้นอยู่ที่กลุ่มผู้นำหรือบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม

blog3
blog2
blog1

จึงเป็นอันชัดเจนว่าละครถกแถลงสร้างขึ้นเพื่อทำงานเชิงความคิดกับกลุ่มผู้นำ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดคือเป็นเครื่องมือที่มุ่งทำงานกับชนชั้นกลางในสังคมไทยเพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (สนใจประเด็นนี้ ดูเพิ่มเติมในหนังสือรวมบทความเรื่อง ชนชั้นกลาง นลินี ตันธุวนิตย์ บรรณาธิการ) โดยคาดหวังว่าผู้ชมหรือผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถปรับประยุกต์แนวคิดและวิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับงานหรือสภาพปัญหาทางสังคมที่ตนเองเผชิญอยู่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถนำประเด็นปัญหาต่างๆ ในละครมาสนทนากับตนเอง ทบทวนตนเองในสิ่งที่ตนเองเป็นและคาดหวังว่าจะเป็น ไม่ใช่เครื่องมือในลักษณะบะหมี่สำเร็จรูปที่แกะซองแล้วชงน้ำร้อนรับประทานบำบัดอาการหิวได้ทันที ความยากจึงเกิดขึ้นกับเครื่องมือชนิดนี้ เพราะคุณสมบัติเบื้องแรกของเครื่องมือจะต้องสะเทือนความเป็นมนุษย์ให้ได้ 

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะเผยให้เห็นวิธีการและกระบวนการที่กลุ่มละครมะขามป้อมสร้างเครื่องมือชิ้นนี้ผ่านเสียงของผู้กำกับ นักแสดง และผู้เกี่ยวข้อง…โปรดติดตามตอนต่อไป


ผู้เขียน: เบญจพร ดีขุนทด นักสังคมศาสตร์ที่สนใจศึกษาปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยา