The theater itself is not revolutionary: it is a rehearsal for the revolution…Augusto Boal

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมวิทยากรหลักสูตรทักษะการเยียวยาและเพิ่มพลังสุขภาพจิต ลงไปทำงานคราวนี้ ฉันรู้ตัวดีว่ามันไม่ง่าย พื้นที่สามจังหวัดชายแดน เรื่องราวความรุนแรงที่รับรู้ ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หลายคนประสบกับเรื่องราวจนเกิดบาดแผลทางจิตใจอย่างมาก ในอีกฐานะหนึ่งพวกเขายังต้องทำหน้าที่ผู้เยียวยา ที่ต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ความเครียดที่สะสมอยู่ในตัวพวกเขาแบบที่ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นเวลานับสิบปี เป็นม่านบางๆที่ก่อตัวอยู่ในใจ

อย่างไรก็ดี ฉันมีความมั่นใจในทีมอยู่ลึกๆ ฝน วิทยากรร่วมในกระบวนการละคร ที่ตั้งใจชวนเธอไปร่วมเรียนรู้ในสนามประสบการณ์นี้ร่วมกัน ฉันมั่นใจว่าเธอเอาอยู่ นอกจากนั้นยังมีเพื่อนร่วมทีม เพื่อนผู้นำคศน.ที่ผ่านประสบการณ์โชกโชนอย่าง พี่หมอหนุ่ม อาจารย์จิตแพทย์ศิริราช น้องดร.ป๊อบ อาจารย์กิจกรรมบำบัดจากมหิดล แจง คนจับประเด็นเนื้อหาและยกระดับความรู้ของพวกเรา ที่สำคัญเธอเชี่ยวชาญอยู่ในพื้นที่กว่าสิบปี น้องเบญและน้องแพ๊ฟที่มาช่วยสนับสนุนกระบวนการ พี่หมอเล็กและ อ.เมตตา ผู้ริเริ่มโครงการ

parallax background

ด้วยความสามารถและศักยภาพอันหลากหลายของทีม ฉันมั่นใจอยู่ลึกๆว่า เราจะพากันเดินไปได้อย่างแน่นอน

กิจกรรมเริ่มต้นได้ช้ากว่าที่กำหนดไว้แต่แรก ไปเกือบสามชั่วโมง ฉันได้แต่ปล่อยวางหัวใจให้เป็นไปตามการจัดสรรของจักรวาล

บ่ายวันแรก กิจกรรมเริ่มต้นด้วยมวลพลังของ “ความเป็นอื่นของกันและกัน”

เราเริ่มต้น สร้างพื้นที่ปลอดภัย

บรรยากาศและพื้นที่ปลอดภัย เป็นประตูแรกของการเรียนรู้เสมอ เราจำเป็นต้องสร้างพลังแห่งความไว้วางใจ ท้าทาย และ เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ให้ได้ พลังงานอันแตกต่างจะค่อยๆไหลเวียน ผสมผสาน หลอมรวม จนก่อให้เกิดพลังใหม่ของกลุ่มร่วมกัน วิทยากรจำเป็นต้องสร้างพลวัตให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เข้าร่วมให้ได้ จึงจะสามารถพาผู้เข้าร่วมเดินขึ้นบันไดแห่งการเรียนรู้ขั้นถัดไป

รู้จักกันเถอะ

ฝนชวนเล่นผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมแนะนำตัวง่ายๆ เพื่อเปิดบทสนทนาต่อกันอย่างลื่นไหล ความสนุกของกิจกรรมจะนำพาผู้เข้าร่วมออกจากโหมดปกป้องอันคุ้นเคย

ให้ร่างกายได้พูดบ้าง

ชักชวนให้ใช้ฐานกาย สร้างการเคลื่อนไหว หัดใช้ร่างกายในการสื่อสาร นอกเหนือกจาก”ภาษาพูด” และ ฐานหัว เรียนรู้องค์ประกอบศิลปะเพื่อให้การสื่อสารนั้นสร้างทั้ง “ความหมายและความรู้สึก”

pp

ละครภาพนิ่ง

ชวนกันใช้ร่างกายจัดภาพ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ทักษะการทำงานร่วมกันภายใต้เวลาอันจำกัด

จุดเริ่มต้น จุดขัดแย้ง จุดจบ

เทคนิคละครภาพนิ่ง ช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะการสื่อสารในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านการคิดที่ไม่ใช้สมอง แต่ใช้ร่างกายและสัญชาตญาณ เรียงลำดับโครงสร้างของบทละครง่ายๆ เกิดเรื่องราวบางอย่างที่พวกเขาสามารถ”เล่า”ได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่”คำพูด”

ทบทวนชีวิต จุดเปลี่ยน เรียนรู้ และ ก้าวข้าม

การได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองนิ่งๆ ในบรรยากาศเงียบสงบ และ ผ่อนคลาย ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสนึกทบทวนถึงประสบการณืในอดีต กลับไปสำรวจเรื่องราวอันเจ็บปวดในชีวิต หรือ ความสูญเสียในอดีต ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากต่อการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดเหล่านั้นอีกครั้ง แล้วเล่ามันออกมาผ่านผลงานศิลปะ

ฟัง คือ รัก

ล้อมวงสนทนาอย่างมีสติ ฝึกการฟังอย่างมีคุณภาพ ห้อยแขวนการตัดสิน ไม่ถาม ไม่พูดแทรก ไม่แนะนำ เปิดหัวใจรับฟังอย่างเต็มที่ ปล่อยใจให้กระโจนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับวงสนทนาอย่างต็มที่ เรากำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน เนิบนาบ เนิ่นนาน และ เชื่อมต่อกัน

กลับมาที่โลกด้านใน

กิจกรรมในเช้าวันที่สอง เราเชิญชวนผู้เข้าร่วมค่อยๆปิดตา เปิดหู เปิดใจ เพื่อฝึก “มองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน สัมผัสให้รู้สึก” ด้วยกิจกรรม ฝึกประสาทสัมผัส ฝึกที่จะช้า ละเอียด และ แม่นยำมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาไม่นาน “ความไว้วางใจ” ก็เกิดขึ้นด้วย “หัวใจที่ถึงหัวใจ”

เข้าถึงตัวละคร เข้าใจความเป็นมนุษย์

ช่วงบ่าย ลองทำแบบฝึกหัดเพื่อความเข้าใจตัวละคร ด้วยการรู้จักเขาจริงๆ รู้จักบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ จุดอ่อนจุดแข็ง เป้าหมายและแรงจูงใจ ของเขาแล้วค่อยๆสวมวิญญาณตัวละคร แสดงมันออกมา ให้เห็นทั้งด้านมืด ด้านสว่าง พร้อมๆกับฝึกการแสดงออกของอารมณ์ 7 ระดับของมนุษย์ แล้วเริ่ม แยกกลุ่มกันทำงาน ใช่ ซ้อมละคร

เมื่อยามค่ำคืนมาถึง การแสดงละครสะท้อนชีวิตจึงเริ่มขึ้น

นักแสดงต่างหมุนเวียนกันทำหน้าที่เล่าเรื่องราวจากชีวิตจริงของพวกเขา ความสูญเสียของครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรง ความอยุติธรรม การซ้อมทรมาน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว

มันจริงซะจนเเราไม่กล้ากระพริบตาหรือแม้แต่จะหายใจ

สันท์สนทนา

หลังการชมละครแต่ละเรื่อง เราจะสนทนากันถึงเรื่องราวในละคร วิธีการแสดง หรือ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากละคร

ไตร่ตรองสะท้อนคิด

กระบวนการสุดท้าย เป็นการคิดทบทวนกระบวนการทำละครที่ผ่านมา ว่าทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ละครช่วยเปิดพื้นที่ในการรับฟัง สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยร่วมกัน ได้ปลดปล่อยความทุกข์ในใจ หลีกหนีไปจากความจริงอันเจ็บปวดชั่วคราว การได้แสดงเป็นคนอื่น ได้ช่วยให้เห็นโลกในมุมใหม่ที่ไม่เคยมอง การเข้าไปในโลกของตัวละครด้วยการแสดงเป็นคนที่เคยเห็นต่าง ทำให้ได้รับรู้มิติของความเป็นมนุษย์ของเขา เหตุผลในการกระทำของเขา ถึงที่สุดเราต่างได้มองกลับมาที่ด้านในของเราเอง มันทำให้เราตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายมากเพียงใด เราต่างเป็นผู้ถูกกระทำเช่นเดียวกัน ที่สุดแล้ว เราต่างยัง…เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน

ผู้เข้าร่วมทุกท่านที่เปิดโอกาสให้เราได้ร่วม “เรียนรู้ เติบโต และ ก้าวข้าม” ไปด้วยกัน
ทีมวิทยากร ฝน พี่หมอหนุ่ม อ.ป๊อบ แจง น้องแพ้ฟ น้องเบญ พี่หมอเล็ก ชุมชน คศน.ที่สนับสนุนในทุกการก้าวเดิน
พี่จิ้ด ดร.เมตตา คุนนิง ที่เปิดโอกาสให้มาร่วมเรียนรู้ และ ทีมน้องๆเจ้าหน้าที่ ศว.ชต. ทุกท่าน ที่บุกเบิกโครงการ”หลักสูตรเพื่อการเยียวยา” ในครั้งนี้

Message us