เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน “ตุลามาแอ่ว” เทศกาลเชียงดาวเดือนแห่งการเรียนรู้ฤดูหนาว ด้วยนิยามสุดน่ารักว่าทุกคนสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่ได้เองตลอดเดือนตุลาคมที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“เราเป็นคนเชียงดาว เราอยากทำอะไรบ้างอย่างให้เกิดขึ้นในอำเภอเชียงดาว ที่ไม่ใช่แค่เทศกาลเพื่อความรื่นรมและเฮฮาอย่างเดียว แต่มันน่าจะมีเทศกาลอื่นๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ บ้าง ซึ่งเราอยู่เชียงดาวตั้งแต่เกิด เราก็คิดว่าพื้นที่มันพร้อมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้หรือจัดเทศกาลที่จะทำให้เห็นภาพใหม่ ๆ ภาพลักษณ์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้ของเชียงดาว

‘Lanner’ ชวน ดาว-ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ประสานงานกลางคณะทำงานเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของเทศกาลในครั้งนี้ในการออกแบบที่จะนำไปสู่การก้าวไปให้ไกลกว่าห้องเรียนแบบเดิม ๆ แม้เทศกาลจะเดินทางมาเกินกว่าครึ่งทางแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องคุยกันถึงเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงของ ‘เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้’ ในบรรยากาศที่ดอยหลวงเชียงดาวโอบกอดพวกเราเอาไว้

ทำไมต้องเป็นตุลามาแอ่ว

เราทำงานกับ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือมะขามป้อม มาก็ 16 ปีแล้ว ตั้งแต่วัยมัธยมเลย จากการเป็นอาสาสมัคร มาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ และเจ้าหน้าที่ประจำ มันมีความยืดหยุ่นตรงที่เราสามารถวาง Position ตัวเองไว้ที่ไหนก็ได้แล้วแต่ความสนใจของเรา มันเป็นโอกาสที่ดีที่เปิดตัวเลือกให้เรา ตอนทำงานแรก ๆ เราเริ่มต้นด้วยกระบวนการของการทำละครที่นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ละครนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับขยะในชุมชน ออกเล่นตามถนนคนเดิน ตลาด และโรงเรียน หลัง ๆ  เราก็เข้าสู่กระบวนการที่ใช้กระบวนการละคร ในการนำพาคนไปเรียนรู้ประเด็น ค้นพบว่าฉากของละครมีเบื้องหลังทั้ง วิธีคิด การนำพาให้ไปสู่ประเด็นมีวิธีทำยังไง การออกแบบกระบวนการ การเป็นวิทยากร มันทำยังไง ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อาชีพ ‘นักจัดการเรียนรู้’ หรือ ‘กระบวนกร’ นี้ยังไม่ถูกเรียกว่าเป็นอาชีพด้วยซ้ำ 

บวกกับด้วยความที่เชียงดาวเป็นบ้านเกิดเรา เราเติบโตมาจากกระบวนการตรงนี้ เราก็เห็นว่ากิจกรรมในเชียงดาวมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหรือการสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งพอโลกมันไปไกล แต่เรื่องวัฒนธรรมมันถูกแช่แข็งอยู่มีแต่ความซ้ำ ๆ  และเด็กในปัจจุบันก็ไม่ได้อินกับวัฒนธรรมแบบเดิมแล้ว เราก็เลยอยากให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม ซึ่งในพื้นที่มันมีทั้งคนและความรู้ที่หลากหลายอยู่แล้ว แต่มันยังขาดความเชื่อมโยงให้เห็นกันว่าแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง แล้วเราจะสร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกันยังไงได้บ้าง เราเลยสนใจตรงนี้อยากเชื่อมโยงคนที่ทำการเรียนรู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นครูภูมิปัญญาหรือเหล่ากระบวนกรที่จัดกระบวนการการเรียนรู้เข้ามาทำงานด้วยกัน

อีกข้อที่สำคัญคือเราต่อสู้เรื่องการกระจายอำนาจว่าความรู้เนี่ยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน มันสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ในทุกพื้นที่ อาทิ ครูภูมิปัญญาที่เติบโตผ่านการเรียนรู้ของตนเอง หรือครูที่มี Degree ก็มีคุณค่าไม่ต่างกัน จะดีแค่ไหนถ้าหากทั้งสองอย่างนี้คนในเชียงดาวสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนรู้แบบไหน

โทนของงานตุลามาแอ่วรอบนี้ก็เลยเป็นเรื่องของอิสระที่ทุกคนสามารถเลือกการเรียนรู้ได้เอง ซึ่งจะล้อไปกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ตั้งแต่เกิดจนตายมันจะมีการเรียนรู้ที่เติบโตขึ้นมาตลอด และทุกคนก็อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง  ตุลามาแอ่วหรือเมษามาม่วนที่เคยจัดก่อนหน้านี้ก็เลยเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนสนใจแบ่งปันองค์ความรู้และสนใจองค์มาเรียนรู้ด้วยกัน

อย่างการเรียนรู้ที่น่าสนใจในครั้งนี้ก็มี ‘เรียนพริกลาบกับป้าเอ้ยหัวทุ่ง’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่มากินลาบแล้วอร่อยเท่านั้น หรือบางคนอาจจะมองว่าอาหารก็คือแค่อาหาร ความน่าสนใจคืออาหารมันมีเรื่องราว มีวัฒนธรรม มีภูมิปัญญา และความเชื่อที่สอดแทรกอยู่ รวมไปถึงวัตถุดิบและที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลมีความเป็นมายังไง ก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่อยู่ในชุมชนซึ่งสามารถเล่าได้อีกมากมาย มันรู้สึกว้าวตรงที่ว่าคนสมัยก่อนเขารู้ได้อย่างไรว่าวัตถุดิบนี้ใช้กับเมนูนี้ ซึ่งคนที่มาทำคือ แม่เอ้ย บ้านหัวทุ่ง ซึ่งเป็นแม่บ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งก็ไม่ใช่เชฟ แต่เป็นการใช้องค์ความรู้ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ พริกลาบเป็นของสำคัญนะแต่ละบ้านจะมีสูตรลับของตนเองจะไม่แชร์กันทำให้แต่ละบ้านจะมีความแตกต่างกันออกไป

อีกหนึ่งห้องเรียนที่น่าสนใจก็คือห้องเรียน ‘ปั้นดิน สีหิน ไข่ขาว’ มันน่าสนใจตรงที่ 3 อย่างนี้มันเกี่ยวของกันยังไง คนที่เปิดห้องเรียนชื่อว่า พี่ยา เป็นครีเอเตอร์ที่เพิ่งย้ายมาอยู่เชียงดาว แล้วก็มาเปิดสตูดิโอชื่อว่า Musashi Pottery เขาก็สนใจเข้ามาสร้างห้องเพื่อเปิดการเรียนรู้ให้กับคนที่อยู่ในเชียงดาว มีการใช้ดินจากเชียงดาวในการปั้น ก็จะมีเรื่องราวในการเล่าให้ฟังว่า ดินตรงไหนบ้างในเชียงดาวที่สามารถนำมาปั้นได้บ้าง ละก็มีเทคนิคในการเคลือบที่แตกต่างจากที่อื่นๆ มีการนำหินและไข่ขาวมาเคลือบที่ทำจากธรรมชาติ มีความเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะอยู่ร่วมกัน เป็นการบูรณาการเรื่องราวข้ามศาสตร์และออกมาเป็นสิ่งของ 1 ชิ้น ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการปั้นเป็นการทำงานที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เพราะมันต้องใช้สมาธิอย่างมากในการทำสิ่งๆ นี้ ซึ่งมีกระบวนการในการทำหลายขั้นตอนมาก ไม่ว่าจะ ปั้น รอให้แห้ง ทำสีทำลวดลาย มันมีรายละเอียดเยอะมาก 

และอีกห้องหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ คือห้องเรียน ‘มองหันหลังดูไปหน้าผ่านศิลปะในเชียงดาว’ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เวลาเราจะศึกษาประวัติศาสตร์เราจะศึกษาถึงระดับชาติหรือระดับประเทศไปเลย แต่เรารู้สึกว่าการที่คนเชียงดาวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเชียงดาว ความเป็นมาของสถานที่สำคัญในเชียงดาวมันหลงเหลือประวัติศาสตร์ให้เราได้เห็นได้ไปเรียนรู้อะไรกับมันบ้าง จะออกมาในรูปแบบของทัวร์ที่จะเล่าในมุมมองจากคนในพื้นที่และศิลปิน จะทำให้ประวัติศาสตร์ที่มันมีความน่าเบื่อก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งห้องเรียนนี้ก็เป็นห้องเรียนของพี่ ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล เป่าอี้ดีที่สุดอาตสตูดิโอเชียงดาว เข้ามาทำกระบวนการ 

เทศกาลนี้ไม่ได้มีแค่คนในพื้นที่ แต่คนนอกอำเภอเชียงดาวก็มาร่วมจัดการเรียนรู้ด้วย

เชียงดาวเป็นเมืองที่มีทรัพยากรเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่คนในท้องถิ่นเท่านั้นที่มีความรู้ หลายคนก็อยากจะย้ายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงดาว ด้วยบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และบรรยากาศของเชียงดาว ทำให้คนที่มาอาศัยอยู่มันได้รับพลังดี ๆ พอเราเปิดตัวว่ามีกิจกรรมตุลามาแอ่ว ก็มีคนสนใจเยอะมาก มีคนสมัครมาเยอะมาก บางทีองค์ความรู้บางอย่างคนในพื้นที่ก็ยังไม่มี เช่น มุมมองที่มองต่อธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญ งานคราฟต์ ซึ่งในเชียงดาวส่วนใหญ่เป็นงานสาน งานก๋วย แต่ยังไม่ค่อยมีงานปั้น หรืองานมัดย้อมที่ในเชียงดาวก็มีการย้อมครามหรือย้อมสีห้อม แต่น่าแปลกตรงที่ว่าทำไมไม่มีพืชที่ปลูกในพื้นที่เอง แต่ Studio Chiangdao Blue ทั้งปลูกและมีเมล็ดซึ่งสืบไปสืบมาก็ได้เมล็ดจากเชียงดาวนี่แหละ กลับกันเมล็ดที่มัดย้อมครามหรือห้อมของเชียงดาวก็ได้จากพื้นที่อื่น คือมันมีการกลับไปกลับมาวนหากันของการเรียนรู้ซึ่งก็มีลักษณะของการเคลื่อนในการเรียนรู้อยู่เยอะมาก

เราก็คิดว่าถ้าหากเรามาผนึกกำลังกันเป็นภาพใหญ่ ถ้ามองงานเทศกาลมักจะจัดอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เราก็ได้ไอเดียจากเขามาถ้าจะจัดเนี่ยเชียงดาวควรจะมีอะไรบ้าง ทรัพยากรของเรามันมีเพียงพอไหม รวมถึงมะขามป้อมเองก็มีเพื่อน ๆ มีเครือข่ายมาเรียนรู้กับเราเยอะมากต่อปีก็ประมาณ 500 คน ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมคนเชียงดาวเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ตรงนี้ จึงเป็นที่มาว่าต้องจัดตรงนี้ขึ้นมาให้มันเห็นว่าการเรียนรู้มันต้องไม่ไปกระจุกอยู่แค่ในเมืองนะเว้ย มันต้องมีการขยายออกมาให้คนพื้นที่และท้องถิ่น มันจะได้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ความท้าทายในการจัดเทศกาลครั้งนี้มีอะไรบ้าง

มันเป็นโอกาสด้วยนะ เราเคยจัดเทศกาลเมษามาม่วน แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือรุนแรงมาก เสียงหลายเสียงเลยบอกให้จัดช่วงเดือนตุลาคม ที่เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงที่อากาศดีรวมไปถึงช่วง High Season ของภาคเหนือคนในท้องถิ่นก็มองว่ามันมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าในท้องถิ่นได้ ด้วยความที่เชียงดาวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องของธรรมชาติด้วย ในขณะเดียวกันคนที่มาเที่ยวธรรมชาติก็ได้มีกิจกรรมทำอื่น ๆ หลังจากเสร็จกิจกรรมเดินป่า ถ้าเกิดเราจัดเทศกาลในช่วงนี้มันน่าจะเพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาเรียนรู้ด้วย 

รอบนี้เราจัดในนามของคณะทำงาน ‘เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้’ ซึ่งเราก็ทำงานนำร่องกับ เทศบาลตำบลเชียงดาว เทศบาลตำบลแม่นะ และ องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว รวมไปถึงโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เช่น โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม โรงเรียนบ้านเชียงดาว โรงเรียนบ้านแม่นะ โรงเรียนชุมชนบ้านวังจ๊อม หรือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 61 เราก็ทำงานร่วมกับคณะครู แกนนำเยาวชน อีกองค์กรที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้การทำงานของเรายกระดับไปเป็นคณะทำงานในระดับอำเภอคือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว ซึ่งจะทำให้การบูรณาการองค์ความรู้ กำลังพล และงบประมาณ ส่วนมูลนิธิมะขามป้อมก็วางตัวเป็นทีมคณะประสานงานคือดูการประสานภาพรวมของแต่ละองค์กรที่ไม่ได้ถนัดในการจัดอีเว้นท์แบบนี้

ความยากของมันคือต้องใช้ระยะเวลาให้คนเข้าใจ รวมไปถึงภาพขององค์กรที่เข้ามาร่วมกับเรา บางทีการจะเห็นภาพที่การจัดอีเว้นท์ที่คนเลือกเองได้มากกว่าที่จะมีคนรอเข้าอยู่แล้วเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเราอยากให้เป็นการเรียนรู้ที่อิสระ รวมไปถึงคนที่มาจัดห้องเรียนก็มีสิทธิ์ที่จะจัดการเรียนรู้เองได้ ก็ต้องประชุมถกเถียงกันบ่อยมาก อีกเรื่องพอเราเป็นคณะทำงานของอำเภอมันก็มีความเป็นราชการ ก็จะมีคำสั่งจากอำเภอ บางทีเราก็ไม่เข้าใจนะ ก็จะมีมุมมองที่อาจจะไม่เข้าใจกันบ้าง ในมุมของเทศบาลเขาต้องการหนังสือราชการในการเชิญชวนเข้ามาพูดคุยกันให้กับหน่วยงานของแต่ละหน่วยงานเข้ามาร่วมกับเราได้ เราก็ได้เรียนรู้ความเป็นทางการจากตรงนี้ด้วย เราแบ่งใจไปหากัน เราไม่ได้ทำงานคนเดียวมันคืองานกลุ่มอะ การทำงานตรงนี้ก็น่าจะมีการพัฒนาไปอีกเยอะ

แล้วเป้าที่อยากไปให้ถึงของเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้คืออะไร?

เราอยากให้เป็นเทศกาลประจำปี มันจะต้องไม่ถูกจัดโดยมะขามป้อม แต่ต้องถูกจัดโดยหน่วยงานภาครัฐ เราตั้งหลักไว้ว่าเรามีคณะทำงานนะ มีเทศกาลประจำปีนะ เราทำโครงสร้างไว้ให้ คนที่จะเข้ามาทำงานต่อในส่วนนี้ก็สามารถเปลี่ยนหน้าได้ตลอดเวลา ปีนี้อาจจะเป็นของมะขามป้อม แต่ปีหน้าจะต้องเป็นของอำเภอ หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ เรามุ่งหวังให้มันเป็นเทศกาลที่อยู่คู่เชียงดาวไปตลอด มีอาสาสมัครเข้ามา มีสถานีเรียนรู้ที่หลากหลาย ถ้าคิดถึงการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ต้องมาที่เชียงดาว การเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ก็ต้องมาที่เชียงดาว

สามารถติดตามรายละเอียดของเทศกาลตุลามาแอ่วได้ที่ เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ “Chiangdao Learning City”


เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ Lanner