เสียงรถผ่านไปมาบนถนนเส้นใหญ่เชื่อมจังหวัดที่รอบล้อมไปด้วยป่าหญ้า ความเร็วของรถที่ขับผ่านไปบริเวณแถวนั้นทําให้ทุกอย่างดูธรรมดา มีเพียงเสียงรถ ทุ่งนา และแสงแดดที่ร้อนผ่าว ฉันนั่งรถลึกเข้ามาในซอยหนึ่งที่เชื่อมกับถนนเส้นหลัก รอบบริเวณนั้นเต็มไปด้วยป่า ทุกอย่างปกคลุมไปด้วยสีเขียว แม้กระทั่งรถสักคันยังไม่มี แต่ใครจะรู้ว่าลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ไม่กี่กิโลเมตรจะมีโบสถ์อายุกว่าร้อยปีของชาวคริสต์ตั้งอยู่ – วัดนักบุญยอแซฟ บ้านคําเกิ้ม
เมื่อรถจอดสนิท ฉันรีบพุ่งตัวออกจากรถด้วยความเร็วแสงเพราะความตื่นเต้น มุ่งตรงไปยังโบสถ์ที่อยู่ตรงกับประตูวัด โบสถ์สีขาวเปล่งประกาย มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู ด้านข้างด้านละ 4 ประตู ทําให้โบสถ์สว่าง ปลอดโปร่ง และเย็นสบาย
ด้านหน้าประตูโบสถ์มีรูปปั้นผู้ชายใส่ชุดคลุมสีม่วงอ่อน มือขวาถือดอกไม้สีขาว มือซ้ายอุ้มเด็ก หรือที่ชาวคริสต์ทุกคนรู้จักกันดีในนามนักบุญยอแซฟกับพระเยซูในวัยเยาว์ ข้าง ๆ กันมีรูปปั้นพระแม่มารีย์ใส่เสื้อคลุมสีขาวและมีผ้าคลุมสีฟ้าทับอีกที ยื่นมือมาด้านหน้าคล้ายกําลังโอบกอดผู้ที่ผ่านไปมา
ครั้นยังไม่ทันเข้าไปสํารวจด้านใน ฉันก็เหลือบไปเห็นโบสถ์อีกหลังที่มีสภาพเก่าแก่กว่ามาก มีรอยแตกของปูนด้านนอกจนเห็นอิฐด้านใน บางส่วนของตัวโบสถ์ผุพังลงไป มีคราบรอยดําเต็มบริเวณกําแพงโบสถ์
“โบสถ์นี้ถูกสร้างขึ้นมานานแล้ว สมัยก่อนก็ใช้โบสถ์นี้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มทรุดโทรม อีกอย่างสมัยนั้นยังมีการเผาโบสถ์อีก โบสถ์เลยเหลือสภาพแบบนี้ ในปัจจุบันชาวบ้านก็มีใช้โบสถ์นี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่คนเขาก็ใช้โบสถ์ที่สร้างใหม่มากกว่า” จริยา แก้วอาสา หรือผู้ใหญ่ต๋อง ผู้ใหญ่บ้านคําเกิ้มเล่าให้ฟัง
ผู้ใหญ่ต๋องเล่าว่า พื้นที่บ้านคําเกิ้ม แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของคนที่เป็นโรคเรื้อนที่ถูกผลักไสออกมาจากชุมชนอื่น ต่อมามีพระสังฆราชกองส์ตัง ยอห์น บัปติสต์ โปรคม เข้ามาทําพิธีศีลล้างบาปให้คนในชุมชนในช่วงปี 1883 และต่อมามีมิชชันนารีนามว่าฟรังซัวส์ มารีย์ ซาเวียร์ เกโก เข้ามาก่อตั้งกลุ่มคริสตชนคําเกิ้มในปี 1885
วัดนักบุญยอแซฟ บ้านคําเกิ้มหลังเก่าก่อสร้างในปี 1907 และหลังใหม่สร้างในปี 1985 หลังเหตุการณ์โบสถ์หลังเก่าถูกเผาเพราะมีคนอยากซื้อโบสถ์แต่ชาวบ้านไม่ขาย
ระหว่างพูดคุยกับผู้ใหญ่ต๋อง บาทหลวงมีคาแอล เฉลิมศิลป์ จันลา เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟเล่าให้ฟังว่าโบสถ์เก่าที่เราเห็น แท้จริงแล้วได้รับการปรับปรุงไม่นานหลังถูกทิ้งร้าง จนทําให้ใช้งานง่ายในปัจจุบัน
“ทําไมถึงมีกําแพงตรงนั้นหรือคะ” ฉันถามด้วยความสงสัยหลังจากเหลือบมองไปด้านซ้ายมือของโบสถ์ แล้วเห็นกําแพงอิฐแดงปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำสีเขียว และดูมีอายุยาวนานพอสมควร
“กําแพงตรงนั้นสร้างไว้เพราะมิชชันนารีในสมัยก่อนเลี้ยงม้าไว้บริเวณนี้ เวลาต้องข้ามแม่โขงไปยังฝั่งลาว ก็จะขี่ม้าไปริมโขงแล้วค่อยไปต่อเรือ” คุณพ่อบอก
หลังจากคุยกันพอหอมปากหอมคอ คุณพ่อก็พาเราเดินเข้าไปในโบสถ์เก่า ตัวโบสถ์เก่ามีลักษณะเป็นห้องโถงโปร่ง มุงด้วยสังกะสี มีหน้าต่างหลากหลายบานอยู่ในทุกบริเวณ ลึกเข้าไปมีประติมากรรมของพระเยซูถูกตรึงไว้บนไม้กางเขน ขนาบข้างเป็นประติมากรรมของบุรุษที่สร้างโบสถ์นี้คุณพ่อกองส์ตังและคุณพ่อฟรังซัวส์ ข้างกันมีประติมากรรมของนักบุญยอแซฟซึ่งเป็นประติมากรรมแบบเดียวกับที่ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ใหม่
“เรียบง่ายแต่สมดุล” นี่คือสิ่งแรกที่เข้ามาในหัวฉันเมื่อมองเห็น
“โบสถ์หลังเก่านี้ออกแบบตามแบบโบสถ์ในฝรั่งเศส เพราะมิชชันนารีที่เข้ามาสร้างมาจากฝรั่งเศส โบสถ์มีความผสมผสานระหว่างศิลปะแบบตะวันตกและตะวันออก แต่ก่อนหลังคาจะเป็นไม้ทั้งหมดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบตะวันออก ส่วนตัวอาคารที่เป็นปูนก็ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบตะวันตก” คุณพ่อเล่า
“แล้วอันนั้นคือรูปอะไรหรือคะ” ฉันถามหลังจากเหลือบไปเห็นประติมากรรมแบบนูนสูงที่ติดตรงกําแพงเหนือหน้าต่าง
“เป็นเหตุการณ์ 14 เหตุการณ์ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงกางเขน” คุณพ่อบอก “ไป เดี๋ยวพ่อพาไปดูโบสถ์ใหม่” คุณพ่อกล่าวอีกครั้งก่อนพาเราเดินไปยังบริเวณโบสถ์ใหม่
ลักษณะข้างในของโบสถ์ใหม่ไม่ได้ต่างไปจากโบสถ์เดิมมาก มีเพียงขนาดที่ใหญ่ขึ้น แต่รูปแบบการสร้างก็อิงมาจากโบสถ์เดิม ภายในมีที่นั่งจํานวนมาก ลึกเข้าไปมีประติมากรรมของพระเยซูถูกตรึงด้วยไม้กางเขนเช่นเดียวกันกับโบสถ์เก่า ถัดลงมามีเก้าอี้และโต๊ะที่มีรูปของอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู ขนาบข้างด้วยเหล่าเทวดาอีกด้านละ 1 องค์
ด้านซ้ายมือมีรูปปั้นของนักบุญยอแซฟอุ้มพระเยซู และภาพของบุญราศี อุทัย พองพูม ส่วนด้านขวามือมีรูปปั้นของพระแม่มารีย์ 2 ปาง คือ ปางที่อุ้มพระเยซู และปางที่จุติสู่สวรรค์ ผนังของโบสถ์ทั้ง 2 ด้าน ประกอบไปด้วย ภาพเหตุการณ์สําคัญของพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกพิมพ์บนผ้ากํามะหยี่ และเหนือประตูทุกบานก็มีประติมากรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้ง 14 เหตุการณ์ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะถูกตรึงกางเขนเช่นเดียวกันกับโบสถ์เก่า
“ทุกวันอาทิตย์ตอน 7 โมงเช้า จะมีการตีระฆังที่หอระฆัง ชาวบ้านจากปกติที่ทํางานหนักในช่วงสัปดาห์ก็จะมาเข้าโบสถ์ และสวดขอพรจากพระเจ้า และก็มีการสวดอวยพรให้กับบุญราศีอุทัยและบุญราศีแห่งสองคอน ให้ท่านได้เข้าถึงพระเจ้าอย่างแท้จริง”
เราเดินออกมาจากโบสถ์เพื่อดูหอระฆังดีไซน์แปลกตาที่ดูเหมือนการผสมผสานของหลายศาสนา ตัวอาคารมีลวดลายกนกที่แสดงถึงความเป็นไทย และมีลวดลายคล้ายธรรมจักรที่แสดงถึงศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาพของบุญราศีแห่งสองคอนที่แสดงถึงเหตุการณ์สําคัญในศาสนาคริสต์ มีพระเยซู พระแม่มารีย์ และนักบุญยอแซฟ และมีสัญลักษณ์ไม้กางเขนเหนือหลังคาที่แสดงถึงความเป็นศาสนาคริสต์ คุณพ่อเองก็ไม่ทราบว่าทําไมจึงเป็นเช่นนี้
ฉันมานั่งคิดว่าความหลากหลายของรูปแบบหอระฆังคล้ายกับความหลากหลายของผู้คนบริเวณบ้านคําเกิ้มและรอบข้างเพราะบ้านคําเกิ้มถูกล้อมรอบไปด้วยผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการผสมผสานระหว่างศาสนา
ลึกเข้าในในป่าหญ้าริมถนนใหญ่ที่เหมือนจะไม่มีอะไร กลับมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของชาวบ้านคําเกิ้มทั้งในอดีตถึงปัจจุบันซ่อนอยู่ จากที่เคยถูกทิ้งร้างกลายเป็นสถานที่งดงามให้พวกเราได้สัมผัสและเรียนรู้ประวัติศาสตร์
ผู้เขียน: นางสาวศิรประภา บัวลาวัณย์ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย
ผลงานจากการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผลิตเรื่องเล่าสำหรับเยาวชน โครงการเล่าเรื่องแม่น้ำโขง เฟส 2
Mekong Storytelling Phase II: Empowering Young Local Storytellers