การจัดกระบวนการเรียนรู้ มันคล้ายกับการย่อส่วนประสบการณ์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่สั้นลง หวังผลได้มากขึ้นและมีความชัดเจน ว่ามาเรียนรู้ ในเวิร์คช้อป หรือ ค่ายอะไรบางอย่าง สามวัน เจ็ดวัน หนึ่งเดือนหนึ่งปี อะไรก็แล้วแต่ แล้วมันเป็นตัวย่นระยะเวลา

เมื่อผมได้สัมภาษณ์ “เฮียก๋วย” พฤหัส พหลกุลบุตร เล่าว่าสิ่งที่เขาทำคือ อาชีพ “ออกแบบการเรียนรู้” ในวันนั้นผมยัง งง ว่ามันแตกต่างอย่างไรกับการออกแบบ Workshop ต่างๆ ที่ผมเคยรู้มาในวันนั้นเราพูดคุยถึงคุณค่าการมีชีวิตอยู่ เรื่องสังคม และการเปลี่ยนแปลง เวลาผ่านไป เกือบ 2 ปี เราตัดสินใจสัมภาษณ์ชายคนนี้อีกครั้งใน collective-changes.org ถึงสิ่งที่ยึดเป็นอาชีพและทำมันด้วยชีวิต “การออกแบบการเรียนรู้”

สิ่งแรกที่เราอยากรู้คือ อะไรคือสิ่งสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้

เราจะวิเคราะห์ กลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร ต้องร่วมทีมกัน หรือ ถ้าไม่ใช่ทีมเราเป็นคนเดียว เราก็ต้องรู้ว่าเรามีอะไรอยู่ มีของอะไรอยู่ในตัว และกำลังจะพาให้ค่ายนั้น หรือการอบรมนั้น มันไปทางไหน แล้วก็อันที่สาม เราเชื่อมั่นในกระบวนการ

เราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงโดยฉับผลันจากกระบวนการเรียนรู้ได้หรือไม่

เราไม่ได้เชื่อมั่นว่าทำปุ๊บแล้วเขาเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ไปทันทีเลย หมายถึง เขาเป็นภาชนะที่ว่างเปล่า เขาไม่ได้รู้อะไรมาก่อน พอทำบุ๊ปแล้วเขาฉลาดขึ้นมาเลย ไม่ใช่นะ แต่ว่าเวลาเราทำโดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ เราเชื่อมั่นเรื่องประสบการณ์ชีวิตเขา เรื่องการเติม มุมมองที่เรามีมันจะต่างไปจากการให้ความรู้เนอะ แต่การสร้างการเรียนรู้มันไม่ใช่แค่การให้ความรู้อย่างเดียว มันเป็นการ collective เอาประสบการณ์ของที่แต่ละคนมีขึ้นมา ตีความสังเคราะห์ วิเคราะห์อะไรร่วมกัน แล้วสร้างมันให้เป็นลักษณะของพื้นที่ร่วม ในการที่จะให้ประสบการณ์นี้มาเติบเต็มซึ่งกันและกัน

อะไรคือสิ่งที่เราต้องจับไว้ให้แน่น

สิ่งสำคัญคือเป้าหมายของเวิร์คช้อป ต้องกำอันนี้ไว้ให้แน่น ทั้งหมดจึงต้องคุยกับทีมว่าแต่ละช่วงนำไปสู่อะไร มันไปถึงตรงไหน เพราะงั้น มันจะมี เจ็ด แปดสิบเปอร์เซ็นต์ เราเห็นภาพแล้ว มันเป็นช่วงของการเปิดพื้นที่ในการ แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ร่วมกัน เราต้องบอกคุณให้เชื่อตามเรา เริ่มต้นเราไม่ได้มีวิธีคิดแบบนี้ เราคิดว่าเรามีบางอย่างที่จะไปแลก คุณก็มีบางอย่างที่จะแลก มันก็ควรจะมีพื้นที่ กว้างที่ให้แต่ละคนได้เอาออกมา แลกเปลี่ยนมา

สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกและหลายๆคนที่เข้าร่วม workshop ของมะขามป้อมแสดงออกคือ ที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

พอแต่ละคนรู้สึกว่าได้เอาออกมาได้แลกเปลี่ยนออกมา เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้น เก่งขึ้น ชัดขึ้น มีคนมาตั้งคำถาม อะไรบางอย่างที่ ไม่เคยมีคนมาตั้ง จากเราเองในฐานะวิทยากร จากฐานะเพื่อนๆ ผู้ร่วมเรียนรู้ด้วยกัน มันจะทำให้เขารู้สึกการมีส่วนร่วมในคลาสนี้ เขาเป็นเจ้าของคลาสด้วย เป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียน พอมันเกิดความรู้สึกนี้ แบบนี้มันจะสนุกมันจะทำให้ ทุกคน integrate(ผสมผสาน) ทุกคนแฮปปี้ที่จะแลกเปลี่ยน มันก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติว่า เขาก็ปลอดภัยเนอะ เพื่อนก็ฟังเขา คิดไม่ต้องเหมือนเพื่อนก็ได้ แต่เราฟังกัน เราเคารพกัน

สิ่งหนึ่งที่คุณพยายามทำคือการสร้างวิทยากร เราจึงสงสัยว่าวิทยากรจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

คือ สิ่งที่เราทำ คือเราคิดว่าเรากำลังทำกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ว่าทุกคนสนใจบางเรื่อง แล้วมาทำบางอย่างร่วมกัน มันทำให้เขาเติบโต ทีนี้ คนที่จะทำให้มีกระบวนการรู้สึกมีการเรียนรู้แล้วมันเติบโตขึ้นได้

มันต้องอาศัยคนชี้นำ คนชักชวน คนจัดกระบวนการให้มันเกิดขึ้น เพราะงั้น ไอ้คนนี้มันจึงสำคัญมากเลยที่จะไปจัด จริงๆแล้วเราไม่ได้เรียกเขาว่า ฟา สำหรับตัวเราเอง เราเรียก เขาว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง ลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ ชวนคนสิบคน สิบห้าคนมาทำเวิร์คช้อป แลกเปลี่ยน อะไรอย่างนี้ นึกถึง ว่าถ้ามันมีเยอะๆ มันจะไปสร้างคลื่นออกไป อีกจำนวนมากเนอะ ถ้าเฉพาะคุณครู เขาอยู่หน้าห้องเรียนที่มี เด็กสามสิบ สี่สิบคน เขาก็ฟา ให้เด็กเกิดความคิด เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการเติบโตออกไป เพราะงั้นครูคนนึง หรือวิทยากรคนนึง มันไปสร้าง คลื่นแบบนี้อีกมหาศาลเนอะ

อีกนับร้อยนับพันคน เพราะงั้นเราถึงคิดว่าอันนี้สำคัญมาก ถ้าเราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง เราสร้างกระบวนการผ่านคนพวกนี้แหละที่เขาจะไปสร้างกระบวนการ ให้มันมีคลื่น กระจายตัวออกไปให้ มากๆ

และฟา (Facilitation) หรือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดี ควรเป็นอย่างไร

สำหรับเรา ฟา มันทำหน้าที่เหมือนกับ ชี้นำก็ได้นะในบางครั้งเราก็ชี้นำ เพียงแต่ว่ามันต้องรอดูจังหวะ เวลาที่เหมาะสม อันที่หนึ่งคือมันต้องสร้าง ประสบการณ์ให้กับผู้เรียนหรือผู้เข้าร่วม ว่าเขามีความสนใจในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรให้เขาเกิดความสนุกเกิดการประทะ เกิดการเจ็บปวดร้องไห้ เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง แล้วเอาประสบการณ์ที่เขามีมาแชร์กัน เพราะงั้นมันเลยเหมือนเป็นกุ๊ก คือเราต้องรู้ว่าจะปรุงอาหารอย่างไร อะไรจะใส่ก่อนใส่หลัง อันนี้จะต้ม จะเคี้ยว ได้เวลาต้องเติมน้ำปลาแล้ว มันก็เหมือนเป็นศิลปะแล้ว ศิลปะการปรุงอาหาร ทีนี่เราก็จะได้กระบวนการที่เอร็จอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย ต้องทำอย่างไร ก็ต้องค่อยๆสั่งสมไปเหมือนกับการทำอาหาร

มะข้ามป้อมสร้างทีมในการทำงานแต่ละงานอย่างไร

สำหรับเราเวลาที่เราคิดว่าจะเอาวิทยากรหรือฟา เข้ามาอยู่ในทีม เราดูความแตกต่างหลากหลาย เช่น เป็ก ชอบงานอาร์ต มีคนหนึ่งชอบงานวิชาการ มีทฤษฎีอะไรบางอย่าง คนนี้เก่งเรื่องการลงมือทำ มันอยู่ที่ว่าโจทย์ของเวิร์คช้อปนั้นต้องการสร้างอะไร ทีมตอบโจทย์อันนี้หรือเปล่า เพราะงั้นความแตกต่างหลากหลายนี่จะช่วยได้มาก

เราก็เลยรู้สึกว่า มันก็เลยเกิดพื้นที่ให้คนถนัดคนละแบบมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเขาก็เห็นว่าการถนัดคนละแบบเป็นเรื่องที่ดีด้วย บางทีเราใช้ความรู้สึกน้อยไป เพื่อนเราเขามีคนที่ sensitive มันทำให้เกิดข้อค้นพบอะไรบางอย่างที่ต่างออกไป หรือ บางทีเราเห็นคนที่มีระบบคิดดีมาก เป็นแบบ logic เขาก็ช่วยกลุ่มในบางมุมเหมือนกันนะ มันก็เลยทำให้ มนุษย์มันมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้เขาสามารถมาอยู่ด้วยกันได้ เรียนรู้ร่วมกันได้ เราคิดว่าอันนี้อาจจะเป็น พ้อยท์ นะ มะขามป้อมอาจจะมีความพยายามในเรื่องนี้ให้มันเกิดการเรียนรู้แบบเนียนๆ แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งกับตัวผู้เรียน กับตัวกระบวนการ หรือว่า ตัววิทยากรเองด้วย

ณ ตอนนี้คือทีมที่ดีที่สุดของมะขามป้อมหรือยัง

คือเรื่องนี้เป็นธรรมชาติ คือเราผ่านเพื่อนร่วมงานมาเป็นรุ่นๆ มันเหมือนกับมีโจทย์ว่าชีวิตมันต้องไปเติบโตแล้ว มันก็ไปก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร คนรุ่นใหม่ก็ขึ้นมา เพราะงั้นทุกครั้งที่เราเดินผ่านมาเราก็ว่ามันดีที่สุดแล้วเสมอ เพราะงั้นวันนี้มันเลยไม่ได้คิดว่า ทีมที่มีคือทีมที่ดีที่สุดแล้ว แต่ว่ามันดีที่สุดเท่าที่มันทำได้แล้วแหละ เพราะงั้นถ้าเกิดพรุ่งนี้จะไม่มี จะเป็นคนใหม่ เราก็รับได้ เพราะมันจะไม่ได้ดีคงที่แบบนี้เสมอไป ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง เวลามันเปลี่ยนสถานการณ์มันเปลี่ยนมันก็ไม่ต้องไปยึดตรงนั้นไว้ มันแค่เราทำเรารู้ว่าเออมันจะเป็นอย่างไร วันนี้มันไม่ได้มีคนเหล่านี้แล้วมันต้องไปต่อมันจะไปอย่างไร

อะไรคือสิ่งที่ ฟา (Facilitation) หรือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องมี

1. sense(ความรู้สึก) คนเป็นฟาต้อง sense ดี แปลว่า คุณมีสัมผัส ประสาทสัมผัสที่มีต่อมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม ไวหน่อย รู้ว่าเขาควรจะพูดอะไรไม่พูดอะไรตอนนี้เขาควรจะเบาลง ตอนนี้ควรจะกระชั้น ตอนนี้ควรไปจี้เขา คือถ้าไม่มีอันนี้ common sense หรือ ประสาทสัมผัสอันนี้ มันจะฝึกยาก ถ้าเราเข้าใจอันนี้มันจะไปได้ง่าย ไปได้เร็ว คล้ายกับว่า รู้กาลเทศะ รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร บรรยากาศตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้น มันมาคุเว้ย มันมีความขัดแย้งกันอยู่ จับชีพจรแบบนี้ได้ ซึ่งไอแบบนี้ก็ต้องใช้ประสบการณ์ เพียงแต่ว่าเราจะเห็นว่าน้องคนไหนเข้ามาและมีสิ่งนี้มาก มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าไม่มีก็มาฝึกได้ ไม่ได้แปลว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้นะ นี่คือประบวนการทำให้เราทุกคนเติบโต

2. การฟังมันไม่ใช่แค่ การฟังได้ยินเสียงจับประเด็นอะไรได้ แต่มันคือการฟังที่เราเคารพ คนอื่นเราเห็นว่ามีเขาอยู่ คือการเห็นว่ามีเขาอยู่มันสำคัญมาก เหมือนครูที่เห็นว่ามีนักเรียน ตอนเด็กถ้าเรารู้สึกlost จากห้องเรียนรู้สึกว่าครูไม่เห็นเราเลย ทำอะไรไปไม่เคยอยู่ในสายตา มันไม่ถูก recognize(รับรู้) มนุษย์ต้องการถูก recognize ว่ามีคุณอยู่ที่นั่น คุณเป็นส่วนหนึ่งของเรา เพราะงั้นการฟังมันคือ กระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ มันคือความเคารพ มันคือการเห็นคนอื่น มันคือการลดทอนอีโก้ของเรา รอได้ คนอื่นคิดไม่เหมือนเราได้ เราไม่ต้องเป็นศูนย์กลางของทั้งโลกก็ได้ มันเลยทำให้เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้สร้างความสัมพันธ์กับ มนุษย์คนอื่นได้ดีขึ้น

เวลาเราเข้า Workshop ของมะขามป้อม เรามักได้ยินคำว่า “พลังงาน” พลังงานที่ว่าคืออะไร

พลังงานมันเป็น vibration(การสั่นสะเทือน) เป็นการสั่นสะเทือนที่เรารู้สึกได้ มันเป็นบรรยากาศมันเป็นความร้อนความเย็น มันเป็นความเฉยชา มันเป็นผู้เข้าร่วมไม่เอากับเราแล้วเพราะเขาง่วง หรือ เขาไม่เอากับเราแล้วเพราะพูดยาว เขารำคาญ sense แบบนี้คือพลังงาน

เราเห็นบาง Workshop ที่บอกผลลัพท์สำเร็จรูป เป็นการเรียนรู้แบบมีผู้นำอยู่หน้าห้องและให้ทุกคนทำตามอย่างนั้นคุณมองว่ามันผิดหรือไม่

เราคิดว่าทั้งหมดอาจจะไม่ได้มีอะไรผิด มันอยู่ที่ว่าเรามีจริตที่จะเลือกแบบไหน ที่จะเป็นแบบไหน แล้วเราก็ว่ามันดีที่จะมีต้นไม้หลายๆแบบ เพราะป่ามันไม่ได้มีต้นไม้แบบเดียวไง ว่าคุณจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น มันจะต้องมี ต้นสัก ต้นไทร ต้นยางนา คือมันต้องมีต้นเล็กต้นใหญ่หลากหลาย แล้วฟังก์ชันมันจะไม่เหมือนกัน บางสถานการณ์ แบบนั้นก็อาจจะเวิร์คก็ได้ ในบางสถานการณ์แบบเราก็อาจจะช้าไป แบบนี้มันก็มีให้คนเลือกได้ไง หลากหลาย แล้วคนจะเชื่ออย่างไร นิยมอย่างไร มันก็มีตัวเลือก เพราะงั้นเลยคิดว่า มันไม่ได้มีคำตอบเบ็ดเสร็จ

กลัวไหมหากวันหนึ่งการ Workshop แบบนี้ จะไม่เป็นที่นิยมจนกระทั่งหายไป

ไม่กลัวคือ อยู่ที่ว่าเราจริงแท้กับมันแค่ไหน วันนี้เราไม่สามารถที่จะทำในสิ่งที่เราไม่เชื่อได้ เราเชื่อในกระบวนการแบบนี้ เราเชื่อในประสบการณ์ เราเชื่อในการเปลี่ยนแปลงภายใน เราก็เลยทำแบบนี้ แต่ถ้าอีกวันนึงเราไปเติบโตแล้วเราเชื่ออีกแบบ เราก็อาจจะทำในอีกแบบนึง หรือ ต่อให้คนอื่นไปใช้กระบวนการอะไร ก็ไม่ได้ต้องห่วงอะไรนะ เราเชื่อว่าคนมีวิจารณญาณ เขามีสิทธิที่จะเลือกตัดสินใจ ว่าเขาจะเชื่อไม่เชื่อ ชอบไม่ชอบ และเอาอะไรมาปรับกับตัวเขาเองที่มันเหมาะสม วันนี้เขาอาจจะแฮปปี้ดี เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาไม่โอเคแล้วก็ไม่เป็นไรนะ แต่ว่าขอให้เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าคุณ กำลังทำอะไรอยู่แล้ว คุณกำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เพราะงั้นต่อให้คนจะชอบไม่ชอบ มันไม่ค่อยใช่ประเด็นสำหรับเรา

เนื้อหาต้นฉบับ: Collective Change