เรื่อง: รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา, ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ: The Potential, ภาพประกอบ: บัว คำดี
ภัทรภร เกิดจังหวัด “เราจะไม่สร้างครูให้ไปสอนว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่เราจะค้นหากระบวนการที่นำไปสู่ประชาธิปไตย”
ภัทรภร เกิดจังหวัด
นักจัดกระบวนการห้องเรียนประชาธิปไตย จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
แม้จะไม่ได้เป็น ‘ครู’ ไม่ใด้ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด แต่ในฐานะนักจัดกระบวนการเรียนรู้ ‘ฝน’ ภัทรกร เกิดจังหวัด นักจัดกระบวนการห้องเรียนประชาธิปไตย จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) จึงเปรียบเสมือนผู้ที่ถ่ายทอดเครื่องมือหรือความรู้อะไรบางอย่าง ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คุณครูได้นำวิธีการเหล่านี้กลับไปใช้ในห้องเรียนและส่งต่อให้เด็ก
เมื่อย้อนถามความเข้าใจเดิม เกี่ยวกับคำว่า ‘ประชาธิไตย’ ฝนบอกว่าแต่ก่อนก็เคยเข้าใจแบบที่ทุกคนคงรู้
“มันคงเป็นภาพฟุ้งๆ อยู่แล้วว่าประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม คือการเคารพกัน จนได้ยินคำพูดหนึ่งของคุณโตมร ศุขปรีชา (นักเขียน) ที่เคยพูดไว้ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่อยู่ปลายทาง แต่กระบวนการที่เดินไปสู่ปลายทางต่างหาก การถกเถียง การมองเห็น การได้ยินเสียงของทุกคน สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือประชาธิปไตย’ ดังนั้นถ้าต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ประชาธิปไตยจึงเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ เพราะมันทำให้เกิดการถกเถียงกันและกันได้”
สำหรับฝน ประชาธิปไตยจึงคือกระบวนการถกเถียง เพื่อหาคำตอบบางอย่างร่วมกัน
“โดยที่เราทุกคนไม่รู้หรอกว่าคำตอบนั้นมันจะเป็นอย่างไร แต่มันเกิดจากการ ‘ร่วมกัน’ ไม่ใช่ฉันเห็นว่าดี พวกเธอจงทำตาม”
และเมื่อเข้าสู่การกระบวนการ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการทำให้ครูเห็นว่า ‘เสียงทุกเสียงมีคุณค่า’
พออยู่ในกิจกรรมเรียนรู้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือครูที่เข้าร่วมไม่ต่างอะไรจากเด็กคนหนึ่ง ครูทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วพูดเก่ง หรือมีความมั่นใจ สิ่งที่ฝนทำคือการสร้างกระบวนการให้ครูก้าวข้ามความรู้สึกนั้น จนกล้าที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมา
“ดังนั้นเมื่อเราสร้างเครื่องมือให้ครูเห็นได้ว่าเสียงของเขามีค่า เขาก็จะนำวิธีการเหล่านี้กลับไปใช้ในห้องเรียน กลับไปใช้กับเด็กที่ตัวเองสอนเอง ทำให้เด็กกล้าพูด สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกเสียงที่จะพูดออกมา”
สำหรับฝน ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ เป็นสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่ใช่แค่อาชีพครู
ครูคนหนึ่งเคยบอกกับฝนว่า เขาไม่เคยสั่งเด็กเลย แต่ด้วยออร่าอะไรบางอย่าง ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวจนไม่กล้าส่งเสียงของตัวเองออกมา เอาแต่นั่งเงียบ ไม่พูด จึงตัดสินใจเปลี่ยนพลังงานบางอย่างของตัวเอง จนทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ซึ่งฝนบอกว่า นี่คืออีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น หา ‘อำนาจร่วม’ หาทางออกด้วยกัน ซึ่งสิ่งนี้คือวิถีประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในห้องเรียน ในครอบครัว ในบริษัท ก็เอาไปใช้ได้
ในฐานะนักจัดกระบวนการ ฝนบอกว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยเขาไปสะกิดต่อมอำนาจ ทำให้ครูเผยความรู้สึกอะไรบางอย่างได้ ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมละครชื่อว่า landlord (แลนด์ลอร์ด) ที่โยงให้เห็นถึงโครงสร้างเหนือสุดสู่ล่างสุด ตามลำดับ 1-2-3-4 (เบอร์ 1 สามารสั่งเบอร์ 2 ได้, และเบอร์ 2 สามารถสั่ง 3 กับ 4 ได้) จากนั้นก็ให้ทุกคนได้ทดลองสลับตำแหน่งเวียนกันไป แล้วฝนในฐานะกระบวนกรจะถามความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับครูแต่ละคนว่าเมื่อได้ยืนในทุกๆ ตำแหน่งแล้ว รู้สึกอย่างไร เห็นอะไร
“บางคนก็สะท้อนมาว่า แม้จะได้ไปยืนในตำแหน่งเบอร์หนึ่งที่มีอำนาจสั่งทุกคนได้ แต่เขาก็ไม่ได้ชอบ เพราะมันกดดัน หรือ ถึงแม้จะไปยืนในตำแหน่งเบอร์ 3, 4 ที่ถูกกดขี่ แต่บางคนกลับชอบเพราะไม่ต้องคิดมาก ทำตามคำสั่งสบายๆ จากนั้นก็โยงเข้าไปสู่ในห้องเรียนโดยให้ครูกลับไปคิดว่า ใครอยู่ตำแหน่งไหน และถ้าเด็กถูกผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสั่งเขาจะรู้สึกอย่างไร”
ดังนั้น เมื่อถามว่าทำไมต้องสร้างห้องเรียนประชาธิปไตย ฝนตอบทันทีว่า เพราะในแต่ละวันเด็ก ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเยอะมาก ห้องเรียนและโรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่และแบบจำลองของสังคม ถ้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เด็กได้ลองถูก ลองผิด คอยสอนเขาเมื่อเขาเดินผิดทาง ฝึกให้เขาคิดและถกเถียง ให้เขาได้รู้ว่ามันมีอีกหลายความคิดที่เกิดขึ้น ทำให้เขาเห็นว่า ‘เออ มันก็มีคนคิดแบบนี้ด้วย’ จนสุดท้ายเขาตกตะกอนออกมาได้เอง โดยที่บางครั้งครู อาจไม่ต้องเปิดตำราสอนเลยด้วยซ้ำ
หากโรงเรียนเป็นโลกจำลองของสังคมได้จริง เด็กนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน เขาก็จะได้ฝึกวิธีคิดเชิงถกเถียง ซ้ำๆ ทุกวันและในที่สุดมันก็จะกลายเป็นพฤติกรรม เป็นสิ่งที่เข้าอยู่ในเนื้อในตัวของเขา เมื่อเขาโตขึ้นไปอยู่ในสังคมจริง สังคมนั้นก็จะไม่ใช่สังคมที่สยบยอม ที่มีแต่กลัวผิด กลัวพลาด ไม่กล้าส่งเสียงของตัวเอง ดังนั้นถ้าเราอยากทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อยากทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง โรงเรียนก็ต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดขึ้นจริง
“เราจะไม่สร้างครูให้ไปสอนว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่เราจะค้นหากระบวนการที่จะนำไปสู่ความประชาธิปไตยต่างหาก ครูต้องสอนแบบไหน สอนประชาธิปไตยโดยใช้อำนาจได้ไหม ถ้าใช้อำนาจต้องเป็นอำนาจแบบไหน จึงชวนครูมาหาคำตอบร่วมกัน” ฝนทิ้งท้าย
เนื้อหาต้นฉบับจาก The Potential