คนตัวเล็กในระบบใหญ่โตอันซับซ้อน
นักศึกษามีอะไรจะถามไหมครับ ?…เงียบ…หลบตา…ไม่ตอบ
นักศึกษาคิดว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างครับ ?…เงียบ…มองตากัน..ไม่ตอบ
สอนนักศึกษา 3 ชั่วโมง สอนเสร็จอาจารย์กลับไปไม่รู้จักนักศึกษาเลยสักคน
เอ้!!! เรากำลังทำอะไรอยู่ สอน ? พูดแลกเงิน? สร้างคน? สร้างโลกใหม่ ?
ละครก็เหมือนคนเต้นกินรำกิน ประโลมโลก แค่สนุกเปล่าเปล่า
หนึ่งปีผ่านไป
นักศึกษาแย่งกันพูด ช่วยกันแชร์ แววตาบ่งบอกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เรียนอย่างมีความสุข
ช่วยกันถาม เกิดแรงบันดาลใจ รู้สึกได้ว่านักศึกษาที่เปลี่ยนไปหลังการสอน สอนเสร็จเราเองรู้จักนักศึกษาแทบทุกคน ได้รู้จักตัวตนของเขา ได้ยินความคิด ความรู้สึก ความกังวล ความฝัน ของนักศึกษา
เออ…มันใช่หว่ะ..สอนน้อยลงแต่นักศึกษามีความสุข ความตั้งใจมากขึ้น..เราเองก็สุขมากขึ้น
บทความเขียนเล่าการเดินทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
จาก ผศ.ดร.นันทวัช สิทธิรักษ์
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ในช่วงตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักจัดกระบวนการที่หลากหลาย ภายใต้โครงการโครงการพัฒนาหลักสูตรต้นแบบและวิทยากรฝึกอบรม (Train-The-Trainer Program) หลักสูตร “ละคร : กระบวนการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 80 คน โดยมีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะเข้ามาร่วมโครงการในครั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขคือผ่านหลักสูตรละครเพื่อความเข้าใจความเป็นมนุษย์ระดับเบื้องต้นก่อน แล้วจึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้ ใครเข้าเกณฑ์คุณสมบัติขั้นต้นก็ส่งเจตจำนงแสดงความคาดหวังของการเข้าร่วม ใบสมัครถูกส่งเข้ามาอย่างมากมาย และได้ทำการคัดเลือกผู้ที่สนใจเพื่อร่วมเรียนรู้อบรมในหลักสูตรที่จะเกิดขึ้น
ขอขยายความเล่าที่มาของผู้ร่วมเรียนรู้กันสักนิด เพราะที่มาของผู้เข้าร่วมน่าสนใจยิ่งนักเบื้องหลังของผู้ที่มาร่วม ทั้งอาจารย์หมอที่อยากสร้างหมอรุ่นใหม่ให้มีหัวใจ อาจารย์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมวิศวะอยากหาวิธีการเรียนรู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ลื่นไหลไม่เป็นแท่ง หรือแม้ในระดับชั้นมัธยมกับครูนอกกรอบที่อยากพาเด็กข้ามพ้นขอบการเรียนรู้ ผู้ที่มีประสบการณ์เป็นนักจัดกระบวนการที่ทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้ด้านในก็อยากแสวงหาทางเลือกการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิม คนทำงานเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพทั้งเรื่องเพศ บุหรี่ เหล้า สุขภาพ หรือประเด็นเรื่องพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ก็อยากได้วิธีคิดวิธีการที่จะทำให้งานกลมกล่อมรอบด้านมากขึ้น หรือแม้แต่คนที่ทำงานกับเด็กพิเศษเช่นเด็กตาบอด หรือคนทำงานกับผู้พิการที่อยากได้แนวทางการเรียนรู้ที่จะสร้างพื้นที่ความเข้าใจมากกว่าความสงสาร ผู้คนที่มาร่วมในโครงการนี้ในครั้งนี้..มาด้วยความหวังและพลังที่จะกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลง
มะขามป้อม เป็นเสมือนเป็นเจ้าภาพที่สร้างความรู้และสร้างพื้นที่ที่นำพานักจัดกระบวนการทั้ง 80 คน มาร่วมเรียนรู้ในพื้นที่แห่งนี้ จึงทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้แบ่งปันความรู้จากการประสบการณ์ทำงาน ที่จะเกาะเกี่ยวกันเป็นชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพื้นที่กลางเพื่อดึงประสบการณ์ของทุกคนมาแบ่งปันเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งกัน ที่ต้องใช้ความคิด ความเชื่อ และไม่ละทิ้งอารมณ์ความรู้สึก เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนทั้งเนื้อทั้งตัว เพื่อนำไปสู่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ในช่วงตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราสร้างความรู้ด้วยการออกแบบและพัฒนา “หลักสูตรต้นแบบ” ที่มีรูปแบบเฉพาะในลักษณะการอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน 3 หลักสูตร คือสำหรับการทำงานภายใต้โครงการนี้
(1) กระบวนการละครสร้างสันติเพื่อสังคมสุขภาวะ
(2) การออกแบบการเรียนรู้ที่มีหัวใจ
(3) การสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างการเดินทางได้มีการปรับและพัฒนา ‘ 3 หลักสูตรต้นแบบ’ ให้มีลักษณะเฉพาะ สามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ชี้ชวนและยืดหยุ่นให้ผู้เข้าร่วมนำไปประยุกต์ใช้จนเกิดทักษะใหม่ ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ และกระบวนทัศน์ใหม่ ตรงกับความต้องการที่มีความหลากหลายของผู้เข้าร่วมมากขึ้น ในห้องเรียนการเรียนรู้ที่มีลักษณะเฉพาะแบบมะขามป้อมที่ทั้งสนุก สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเคารพประสบการณ์ผู้เรียน ทำให้เกิดการออกแบบกระบวนการที่เรียงร้อยแบบเป็นขั้นตอนผสานกับบรรยากาศการเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมที่ตลบอบอวนไปด้วยความกระหายใคร่รู้ โดยเฉพาะช่วงการ Reflection ที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงกระบวนการเรียนรู้ การตกตะกอนถอดความความรู้ การช่วยกันต่อยอด เติมเต็มกันและกัน ช่างเป็นไปด้วยความเข้มข้น ด้วยความหลากหลายและความเชี่ยวชาญของผู้เรียน แต่ที่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้สำหรับ Train The Trainer ห้องเรียนที่ถูกออกแบบมาอย่างเลือกสรร ผนวกเข้ากับผู้เรียนที่มีศักยภาพพร้อมเรียนรู้และเปิดรับ และพร้อมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในงานตัวเอง
หลังจากจบการเรียนรู้ทั้ง 3 หลักสูตร มะขามป้อมยังมีโอกาสได้ลงไปในพื้นที่ไปเอาใจช่วย เพื่อน ๆ ในช่วงที่ทำกระบวนการ ในห้องเรียน หรือห้องปฏิบัติการ เราใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างเพื่อให้มีความหลากหลายและเพื่อดูว่าหลักสูตรที่มะขามป้อมสร้างขึ้นมาได้เข้าไปช่วยเติมเต็มให้กับเพื่อนๆนักจัดกระบวนการเรียนรู้ได้จริงหรือไม่ การได้เข้าไปสังเกตห้องเรียนแต่ละห้องเรียนเมื่อเราเข้าไปเห็นสิ่งหนึ่งที่เห็น ในฐานะคนทำงานเราตื่นเต้นกับการแตกหน่อต่อเติมความรู้ในพื้นที่ใหม่ อย่างเช่นห้องเรียนที่เน้นเข้มเนื้อหาอย่างห้องเรียนเรื่องเพศที่จะไม่ทิ้งใครที่เห็นต่างไว้ข้างหลัง แม้งานแบบนี้เป็นงานที่ต้องทำงานเพื่อเปลี่ยนทัศนคติแต่ต้องประนีประนอมกับขั้วความคิดที่เห็นต่าง อีก้องเรียนที่น่าสนใจที่ไม่ทำให้คนที่ตกอยู่ในปัญหานั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นฆาตกรอย่างโรงเรียนปอดสะอาด ที่ไม่กันเด็กที่สูบบุหรี่ออกจากกระบวนการแต่การมีพื้นที่ยอมรับ และให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหานั้น ๆ จะทำให้เห็นทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นจริง ห้องเรียนทางสายแพทย์ห้องเรียนหมอที่เปิดพื้นที่สนใจคำถามมากกว่าคำตอบ ชวนนักศึกษาหยุดใคร่ครวญยอมรับความเป็นมนุษย์ผ่านเครื่องมือละครเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือแม้แต่การสร้างพื้นที่เรียนรู้จากคนที่มองเห็นกับคนที่มองไม่เห็น ให้ไปมากกว่าความสงสารไปสู่ความเข้าใจมองให้เห็นกัน ถึงแม้เราจะไม่เห็นกันก็ตาม
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ทุกคนกลับไปสร้างพื้นที่ในแบบของตัวเอง ที่เมื่อหัวใจเปลี่ยน มุมมองเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน เราจะทำสิ่งเดิมในแบบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ ก่อร่างขึ้นแล้ว การรวมตัวกันของเหล่านักจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นนัยยะสำคัญ เป็นความหมายกับสังคม ไม่ต้องมีนโยบายกำหนดเป็นวาระชาติ แต่ทั้งหมดมารวมกันด้วยภารกิจวาระชีวิต ที่อยากร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง
หลักสูตรนี้ไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แต่คือตัวอย่างที่เหนี่ยวนำให้แต่ละคนก้าวออกจากจุดยืนเดิมสู่พื้นที่การเรียนรู้ใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ร่วมกัน และช่วยกันต่อเติมแปรเปลี่ยน ประยุกต์ใช้ข้ามฐานคิดและศาสตร์ต่าง ๆ จนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
งานนี้จึง “ยังไม่เสร็จ” เป็นเพียงเค้าโครงเริ่มต้น ที่พอจะมองเห็น “ระหว่างทาง” และการส่งต่อจากคนหนึ่ง ไปยังกลุ่มหนึ่ง ไปสู่ชุมชนหนึ่ง ชั่วเวลานั้น, เราจะตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเองว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดจาก “โลกภายใน” หรือ “โลกภายนอก” และมันสัมพันธ์กันอย่างไร