“บ้านสิงหไคล” สถานที่แห่งนี้นับเป็นสถานที่ต้องมนต์ งดงามด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นด้วยตาแล้วอายุคงราวหลายร้อยปี ตั้งตระหง่านอยู่รอบตัวบ้านสองชั้นรูปทรงสถาปัตยกรรมแปลกตา
ปัจจุบันชั้น 2 ของตัวบ้านสิงหไคลถูกจัดเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ ซึ่งตอนนี้แสดงผลงานของกลุ่มศิลปินแม่ลาว กลุ่มที่รวมตัวกันในอำเภอแม่ลาวเพื่อขับเคลื่อนการทำงานศิลปะเพื่อชุมชน แกลลอรี่รวบรวมผลงานศิลปะของกลุ่มศิลปินชาวแม่ลาวที่มีชื่อเสียงหลายคน หลายลายเส้น และเทคนิคการรังสรรค์ผลงานที่แตกต่างกันอย่างลงตัว

ช่วงเย็นของวันนี้มีงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะของกลุ่มศิลปินแม่ลาว เหมือนเป็นการหวนกลับมารวมตัวอีกครั้งของพวกเขาในบรรยากาศร่มรื่น พิธีการเรียบง่าย ไม่มีแม้แต่สคริปต์กล่าวเปิดงาน ประธานเปิดงานพูดหยอกล้อกับกลุ่มศิลปินอย่างสนิทสนม เก้าอี้ที่ถูกจัดวางไว้นับตัวได้ สายไฟที่ขึงติดกับตัวบ้านชั้นสองถูกแขวนเสริมด้วยโคมไฟหลากสีสัน ตัดสลับกับสีเขียวของต้นไม้ ลมที่พัดโชยตลอดการเปิดงาน ทำให้ฉันหลงใหลบรรยากาศตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มค้นหาเรื่องราวของกลุ่มศิลปิน และสิ่งที่ฉันสังเกตเห็นอีกอย่างคือศิลปินแทบทุกคนดูเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง แต่ตรงกันข้ามกับฝีมือวาดภาพ

หลังเปิดงานเสร็จ ฉันขึ้นไปเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะบนชั้นสองของตัวบ้าน เดินวนเพลินกับภาพวาดที่มีทั้งภาพที่แอบซ่อนความงามอยู่ในตัวและทั้งแสดงความโดดเด่นอย่างชัดเจน ภาพทุกภาพดูมีเสน่ห์ในตัวเอง แต่มีอยู่หนึ่งภาพที่ดูมีเสน่ห์และดึงดูดฉันมากที่สุด ป้ายสีขาวเล็กๆ ถูกติดไว้ด้านล่างภาพวาด บอกชื่อศิลปินไว้ว่า ‘อภิสิทธิ์ มณีธร’

สิ่งที่สังเกตเห็นอันดับแรกคือภาพวาดมีการใช้โทนสีให้เหมือนภาพมีชีวิต ลายเส้นที่คมกริบ เป็นภาพวาดคุณตาสวมเสื้อม่อฮ่อม สวมหมวกสานล้านนา มีเมล็ดข้าวกระจัดกระจายอยู่เต็มภาพ คงเดาได้ไม่อยากว่าศิลปินคนนี้ต้องการสื่อถึงวิถีชีวิตการเกษตร แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะภาพวาดคุณตาดูมีอารมณ์บางอย่างที่ชวนให้คิดต่อ ทั้งใบหน้าที่ดูเก็บความรู้สึกทุกข์เศร้าไว้บางอย่างแต่ทำได้เพียงยอมจำนนยิ้มรับมัน

“จุดประสงค์ที่ศิลปินต้องการสื่อจริงๆ คืออะไรกันแน่” ฉันคิดในใจ
หลังจากนั้นไม่นาน ฉันมีโอกาสพูดคุยกับศิลปินเจ้าของภาพ เขาเป็นคนพูดน้อย แต่ว่าก็ยังมีเรื่องราวของศิลปินที่น่าสนใจ คุณอภิสิทธิ์เป็นน้องเล็กในกลุ่มศิลปินแม่ลาว คำถามแรกที่ฉันเอ่ยถามคือ “จุดเริ่มต้นความสนใจในงานศิลปะของพี่คืออะไรคะ”

พี่ศิลปินตอบด้วยแววตาอ่อนโยน ดูเป็นคำตอบที่ผ่านการครุ่นคิด ช้าๆ แบบไม่รีบร้อนว่า “ปกติพี่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะอยู่แล้ว แล้วพี่ก็รู้สึกว่าศิลปะคือชีวิต ศิลปะคือทุกอย่าง แค่พี่ตื่นมาเลือกเสื้อผ้าใส่มันก็เป็นศิลปะแล้ว ศิลปะดูครอบคลุมทุกอย่าง ไม่ว่าประเทศและเชื้อชาติไหน ทุกคนรู้จักศิลปะในแบบของตนเอง”

นี่เป็นคำตอบที่ฉันรู้สึกว่าศิลปะกว้างใหญ่เกินที่จะมีใครไปวางข้อจำกัดมันจริงๆ

ฉันวกมาถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการวาดรูปชาวนาของพี่อภิสิทธิ์ และได้คำตอบมาว่าได้แรงบันดาลใจมาจากครอบครัว

“คุณตาพี่เป็นชาวนา แล้วตอนนี้ชาวนาเจอปัญหาหลายๆ เรื่อง ซึ่งแต่ละคนก็เจอปัญหาไม่เหมือนกัน พี่เลยอยากสื่อให้เป็นภาพปัญหากว้างๆ ให้มองได้หลายๆ มุมมอง”

ในความคิดของฉัน เมื่อมองภาพนี้แล้วทำให้ย้อนกลับมาคิดว่าปัญหาของเกษตรกรเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่นานแล้ว ไม่ได้รับการแก้ไขสักที ซึ่งงานศิลปะก็ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหายังคงอยู่

ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องภาพวาดชาวนาเท่านั้น แต่ยังมีงานศิลปะในเชียงรายที่เล่าเรื่องราวอีกหลายเรื่อง และมีความพยายามที่ทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งศิลปะ

“พี่เห็นศักยภาพอะไรในเมืองเชียงรายที่จะขับเคลื่อนเป็นเมืองแห่งศิลปะไหมคะ” ฉันเอ่ยถาม
“อย่างแรกเลย พี่คิดว่าคือศักยภาพของศิลปินเชียงราย แต่บางครั้งโอกาสของเรา ไม่ได้แสดงเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นพี่เป็นคนเกร็ง ขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก” พี่ศิลปินพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนๆ ปนเสียงหัวเราะนิดๆ ฉันเลยพูดต่อไปว่า “หนูเคยได้ยินคนบอกว่าคนเชียงรายมีความสามารถมาก แต่เป็นคนขี้เกรงใจ เรื่องนี้มีอยู่จริงๆ” หลังจบประโยคพี่อภิสิทธิ์หัวเราะ

ในช่วงท้ายของบทสนทนา เราคุยกันถึงความสุขในการเป็นศิลปินของพี่อภิสิทธิ์ เขาทิ้งท้ายว่า “ผมอยากวาดรูปอย่างสบายใจในแบบของผม ไม่อยากให้ใครมาวางข้อจำกัดในการวาดรูปของผม”


ผู้เขียน: นางสาว วนัชพร ปินตา โรงเรียนนครวิทยาคม
ผลงานจากการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผลิตเรื่องเล่าสำหรับเยาวชน โครงการเล่าเรื่องแม่น้ำโขง เฟส 2
Mekong Storytelling Phase II: Empowering Young Local Storytellers

Message us