เท้าหนึ่งคู่ก้าวข้ามผ่านประตูรั้ว สายตาจ้องมองบ้านหลังใหญ่ ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวเด่นสง่าท่ามกลางพื้นที่เขียวชอุ่มของต้นไม้สูงใหญ่อายุราวนับ 100 ปี กลิ่นของกาแฟฟุ้งลอยมาตามสายลมที่โบกพัดเป็นระยะๆ มองไปทางขวาเห็นคู่ชายหญิงนั่งจิบกาแฟมองไปทางซ้ายเห็นผู้คนมากมายพูดคุยกันระหว่างรอเปิดนิทรรศการงานศิลปะ เก้าอี้เรียงรายเป็นแถวถูกคลุมด้วยผ้าขาวเพื่อให้ดูมีความเป็นทางการ โคมถูกแขวนกับสายหลอดไฟทอดยาวเป็นสายเดียว กลุ่มศิลปินกลุ่มหนึ่งกำลังยืนพูดคุยกัน

บ้านหลังนี้มีชื่อว่า ‘บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย’ เป็นบ้านโบราณอายุนานนับ 104 ปี ในอดีตเป็นบ้านพักของมิชชันนารี มีการผสมผสานระหว่างที่จัดแสดงงานศิลปะและร้านกาแฟ ในวันที่ฉันไปมีการจัดนิทรรศการแม่ลาวเล็กเล็ก โดยกลุ่มศิลปินแม่ลาว

ณ เวลาบ่ายสามตรง ทุกคนนั่งลงบนเก้าอี้ ฉันก็คือหนึ่งในนั้น เสียงผู้คนมากมายที่เคยพูดคุยกันก็เงียบสงัดลง ราวกับถูกต้องมนต์สะกดไว้ ก่อนที่เสียงคนกล่าวเปิดงานนิทรรศการแม่ลาวเล็กเล็กพร้อมกับเสียงปรบมือของทุกคนจะดังขึ้น กลุ่มศิลปินแม่ลาวลุกขึ้นแนะนำตัวทีละคนไปเรื่อยๆ จนหมด ศิลปินท่านหนึ่งกล่าวถึงที่มาของการรวมตัวของกลุ่มศิลปินแม่ลาว ย้อนรอยไปเมื่อ 8 ปีก่อนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงราย นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของกลุ่มศิลปินกลุ่มนี้

อาจารย์จรูญ ไชยจิตต์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศิลปินแม่ลาว กล่าวถึงที่มาของการตั้งกลุ่มนี้โดยคร่าวๆ ว่ามีสมาชิกทั้งหมด 15 คน รวมตัวกันเพราะเหตุแผ่นดินไหวในเชียงราย ฉันรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเหตุการณ์แผ่นดินไหวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มศิลปินแม่ลาว นั่งคิดอยู่ไปสักพักพร้อมกับคำถามที่ผุดขึ้นเต็มมาในหัวเรื่อยๆ หรือก็นั่นแหละ ความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์และสัตว์หลายชนิด ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่อยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ

การกล่าวเปิดนิทรรศการงานศิลปะจบลงพร้อมกับเสียงปรบมืออีกครั้ง ฉันเดินเยี่ยมชมนิทรรศการงานศิลปะ เชยชมงานศิลปะต่างๆ ของกลุ่มศิลปินแม่ลาว ที่มีทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม ผลงานแต่ละผลงานมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ฉันเดินไปสะดุดตากับผลงานของอาจารย์สมพงษ์ สารทรัพย์ ผลงานของคนอื่นใส่กรอบสี่เหลี่ยมหนา ดูหรูหราเป็นอย่างดี แต่ทว่าทำไมผลงานนี้ถึงเลือกใช้เป็นกรอบไม้เก่าๆ สภาพดูผุพังที่มีตะปูสนิมถูกต่อเขาด้วยกับกรอบไม้ ในระหว่างที่เดินชมงานในหัวก็คิดว่ากลุ่มศิลปินแม่ลาวนี้เป็นการรวมกลุ่มความหลากหลายทางด้านศิลปะในแขนงต่างๆ ที่นำมารวมกันและถ่ายทอดสื่อออกมาด้วยวิจิตรศิลป์

ฉันมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์สาตรา วรรธนะหทัย ผู้ก่อตั้งกลุ่มศิลปินแม่ลาว ที่โต๊ะไม้ในร้านกาแฟร่มรื่น อาจารย์เล่าความเป็นมาของการรวมกลุ่มให้ฟังว่า ในตอนที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกที่ฝังลึกลงไปในจิตใจของศิลปิน จึงได้รวมตัวการสร้างสรรค์งานศิลปะ เริ่มแรกมีการรวมกันเพียงแค่สามคน ศิลปินทำตุงผ้าโบสถ์เพื่อนำไปแสดงผลงานที่วัดร่องขุ่น หลังจากนั้น อาจารย์ก็ตั้งคำถามในใจว่า ในพื้นที่แวดล้อมนี้มีใครเป็นศิลปินในพื้นที่นี้บ้าง กลับกลายเป็นว่าคำถามนั้นเป็นคำถามที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา โดยกลุ่มที่รวมตัวต่างเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งงานปั้น งานแกะสลัก งานวาดรูป

“นิทรรศการแม่ลาวเล็กเล็ก มีการจัดที่เล็กสมชื่อ แล้วอาจารย์กำลังคาดหวังอะไรกับการจัดนิทรรศการขนาดเล็กที่บ้านสิงหไคลนี้คะ” ฉันถาม

อาจารย์ตอบกลับมาว่าเพื่อสร้างจุดยืนของกลุ่มศิลปินแม่ลาวชาวเชียงราย เป็นเวทีโชว์ผลงานที่แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองออกมา พูดถึงงานศิลปะที่ถือว่ายังเป็นงานที่คนเข้าถึงยาก อาจเป็นเพราะไม่ค่อยได้พบเจอบ่อย ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเพียงนั้น ผู้คนส่วนมากคิดว่างานศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว และอีกทั้งงานศิลปะจะต้องอยู่กับคนที่มีฐานะและอำนาจพอสมควร

บ้านสิงหไคลเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามขับเคลื่อนเชียงรายให้เป็นเมืองศิลปะ เป็นสื่อกลางในการจัดนิทรรศการ การที่มาจัดแสดงที่นี่เพื่ออยากจะร่วมสนับสนุนส่งเสริมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถือเป็นการนำงานศิลปะให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ว่างของประชาชน ให้ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัส

“ศิลปะไม่ได้อยู่กับศิลปินและคนมีอำนาจ แต่ศิลปะอยู่ในทุกๆ ที่และเป็นของทุกคน” อาจารย์สาตราย้ำ

ศิลปินยังเป็นอาชีพรับจ้างในมุมมองของสังคมไทย แต่ในมุมมองของอาจารย์สาตรามองว่าศิลปินเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ควรได้รับการยอมรับในสังคม เกียรติในที่นี้ไม่ใช่ว่ามีเงินเยอะ ยศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง มีชื่อเสียงเลื่องลือ แต่คืออาชีพนี้สร้างสื่อศิลปะถ่ายทอดอารมณ์ออกมาผ่านผลงานศิลปะ ศิลปะจะช่วยขัดเกลาจิตใจของมนุษย์

หลายคนอาจมองว่าอาชีพศิลปินทำแต่งานศิลปะเพื่อหารายได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าโรงเรียนที่มีกำแพงสีเทาจืดชืดไร้สีสัน ชุมชนรอบตัวที่หม่นหมอง ได้ถูกแต่งแต้มสีสันด้วยศิลปินเหล่านี้ รวมถึงการนำงบประมาณของกลุ่มศิลปินเข้าช่วยเหลือกับคนในสังคม สำหรับฉันแล้วโลกของศิลปินที่เคยมองก็ถูกเปิดกว้างมากขึ้น

งานศิลปะไม่ได้ช่วยชีวิตแค่ศิลปิน แต่มันคืองานที่ช่วยชีวิตของมนุษย์และชุมชน เมื่อมองไปที่บ้านสิงหไคลหลังนี้อีกครั้ง ฉันไม่ได้มองเห็นเพียงแค่ความสวยงามความคงทนของตัวบ้าน แต่ฉันมองเห็นเรื่องราวภายในบ้านที่ถ่ายทอดผ่านทางงานศิลปะ ส่งความหวังการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองศิลปะ

ร้อยปีที่แล้วบ้านหลังนี้มีประโยชน์แบบไหน ในตอนนี้ก็มีประโยชน์เช่นกัน กาลเวลาเปลี่ยนไปแต่บ้านก็ยังยืนยันทำหน้าที่ต่อไปและนี่คือความรู้สึกของเท้า 1 คู่ที่ก้าวข้ามผ่านประตูรั้วในวันนี้


ผู้เขียน: นางสาว เอมิกา ยารังษี โรงเรียนเชียงของวิทยาคม
ผลงานจากการอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผลิตเรื่องเล่าสำหรับเยาวชน โครงการเล่าเรื่องแม่น้ำโขง เฟส 2
Mekong Storytelling Phase II: Empowering Young Local Storytellers

Message us