บางคนรู้จัก ‘เชียงดาว’ ในฐานะหมุดหมายการท่องเที่ยวของขาลุย ผู้รักธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งมากกว่าความสะดวกสบาย

บางคนรู้จัก ‘เชียงดาว’ เพราะเพิ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก อันหมายถึงพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งคนกับป่ามีความสัมพันธ์กันอย่างยั่งยืน

บางคนรู้จัก ‘เชียงดาว’ ตามคำบอกเล่าของตำนานเมืองเชียงใหม่ ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ 8 องค์เสด็จมาสรงน้ำในสลุงทองคำ

บางคนรู้จัก ‘เชียงดาว’ จากข่าวไฟป่ารุนแรงราวทะเลเพลิงในช่วงหน้าแล้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปี

วันนี้ The KOMMON อยากบอกเล่าเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของเชียงดาว ที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จัก ภาพของอำเภอที่เต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้นอกกระแส ซึ่งดึงดูดนักแสวงหาความรู้ให้ดั้นด้นเดินทางมาที่นี่ตลอดทั้งปีไม่ว่าฤดูกาลไหนๆ แถมยังได้เก็บเกี่ยวความสุขใจกลับไปเป็นของแถม

หากพร้อมแล้วขอชวนเก็บกระเป๋า ออกเดินทางกันเลย

แม้ว่าเชียงดาวจะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะค่อยๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นักท่องเที่ยวเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ชุมชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องและต้องการที่ทำกินเพิ่มขึ้น รวมทั้งไฟป่ารุนแรงอันเนื่องมาจากน้ำมือของมนุษย์

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิงซึ่งมีบทบาทในการอนุรักษ์ผืนป่า ทำงานอาสาดับไฟป่าและปลูกป่ามาหลายสิบปี ได้ก่อตั้ง ‘ค่ายเยาวชนเชียงดาว’ บนพื้นที่ราว 20 ไร่เชิงเขาดอยหลวง ด้วยหวังว่าการปลูกจิตสำนึกจะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ยั่งยืน

 ลุงอ้วน-นิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง และผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว ตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสร้างโอกาสในการเรียนรู้ธรรมชาติ ปลุกความตระหนักถึงสภาวะธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และหันมาช่วยกันปกป้องธรรมชาติ

“ทุกคนที่ได้มาสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่ว่าเป็นกิจกรรมไหน จะเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในตัวตน เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับธรรมชาติ งานเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน สิ่งสำคัญของงานไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ปลายทาง แต่คือเรื่องราวระหว่างทาง”

ภายในค่ายฯ มีศาลาทำกิจกรรม โรงนอน ลานกางเต็นท์ ต้นไม้ใหญ่น้อย และลำธารไหลผ่าน เหมาะสำหรับการค้นหาและตั้งคำถามถึงสรรพชีวิตที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ดินหญ้า ใบไม้ หรือสายน้ำ กิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น ค่าย ด.เด็กเดินป่า ในช่วงต้นเดือนมกราคมและตุลาคมของทุกปี การเดินธรรมยาตราในป่าเชิงนิเวศภาวนา เพื่อเรียนรู้ทางจิตวิญญาณและคืนสู่วิถีที่อยู่กับธรรมชาติ ค่ายหลุดโลก และค่ายชีวิต สำหรับผู้ใหญ่ เพื่อทบทวนช่วงเวลาที่ผ่านมาในชีวิต และวางแผนว่าชีวิตต่อไปจะเป็นไปอย่างไร และกิจกรรมเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ เป็นต้น

ค่าย ด.เด็กเดินป่า 
Photo : ค่ายเยาวชนเชียงดาว/นิคม พุทธา

นอกจากป่าบนภูเขาแล้ว อีกหนึ่งพื้นที่นิเวศที่สำคัญมากก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำ ถิ่นที่อยู่ของพืชน้ำท้องถิ่นและสัตว์หลายชนิด ซึ่งนับวันจะมีพื้นที่ลดลงเรื่อยๆ ในปี 2561 มีการทดลองสร้าง ‘ทุ่งน้ำและไร่นาเกษตรอินทรีย์นูนีนอย ท่ามกลางนาระบบเหมืองฝายโบราณ โดยปล่อยให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าฟื้นตัวขึ้นมาเอง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร

ทุ่งน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่บ้านพักส่วนตัวของ อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว และ จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี “ในวันนี้เรารู้กันแล้วว่าทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายเรายึดโยงอยู่กับธรรมชาติ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น แต่วิถีชีวิตสมัยใหม่แยกเราออกไปจากธรรมชาติ จนเราไม่รู้จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไร …ทุ่งน้ำนูนีนอยคือพื้นที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติภายใต้พลังดอยหลวงเชียงดาว” สรณรัชฎ์ กล่าว

ทุ่งน้ำนูนีนอย ได้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้เพื่อการบำบัด ‘โรคขาดธรรมชาติ’ ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น หลักสูตร ‘Nature Connection: ฟื้นสัมพันธ์คืนดีกับธรรมชาติ’ ที่มุ่งปลุกผัสสะต่างๆ ในร่างกายจากระดับพื้นฐานสู่ระดับที่ละเอียด จนขยายการรับรู้จากภายในออกไปกว้างไกล กิจกรรมรับฟังธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการรับฟังสารจากธรรมชาติ โยงใยตนเองกับเพื่อนร่วมโลกและเปิดรับการเยียวยา

นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) กำลังผลักดันโครงการ ‘เชียงดาวเมืองดาว’ เพื่อลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและนักท่องเที่ยว

เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ในพื้นที่ราบของอำเภอเชียงดาว ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งราวครึ่งหนึ่งพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เกษตรกรรุ่นใหม่ในเชียงดาวหลายกลุ่มจึงมีความพยายามในการผลักดันชุมชนให้หันมาใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ หนึ่งในนั้นคือ มล-จิราวรรณ คำซาวอดีตนักวิจัยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กลับบ้านเกิดมาทำการเกษตรและสร้างพื้นที่เรียนรู้ ‘ทุ่งกับดอย Learning Space’ บริเวณชุมชนบ้านหัวทุ่ง ใกล้กับดอยนาง

จิราวรรณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากความตั้งใจทำแปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เพื่อเปลี่ยนอาหารให้เป็นยา เธอได้ขอแบ่งที่ดินจากครอบครัวแล้วลงมือปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี 100% ต่อมาเปิดโอกาสให้คนในชุมชนหรือผู้ที่มีไอเดียอยากทดลองปลูกพืชอินทรีย์แต่ไม่มีพื้นที่ ได้มาลงมือทำจริง ปลูกจริง ช่วยกันศึกษา เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์สำหรับทุกคน

สำหรับเด็กๆ ในชุมชน ทุ่งกับดอยฯ เป็นเหมือนสนามเด็กเล่น ที่สามารถเข้ามาเล่นสนุก คลุกดิน เปื้อนโคลน เด็กๆ ‘แก๊งถิ่นนิยม’ ถูกชักชวนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในพื้นที่ เช่น เป็นไกด์นำเที่ยวในป่า และจัดหาวัตถุดิบตามฤดูกาลเพื่อทำอาหาร ให้กับนักท่องเที่ยวของ ‘เส้นทาง วิถีป่า วิถีคน ชุมชนต้นน้ำ’ ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ การทำอาหารและขนม งานจักสาน เกษตรอินทรีย์ และสมุนไพร เด็กๆ ในชุมชนจึงเกิดการซึมซับเรื่องเกษตรอินทรีย์และความรักถิ่นฐานบ้านเกิดโดยไม่รู้ตัว

มล-จิราวรรณ ยังสนับสนุนให้เกิด ‘กลุ่มถิ่นนิยม’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรและผู้สนใจเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ สู่ธุรกิจพัฒนา วิจัย จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพจากวัตถุดิบอินทรีย์ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเกษตรกรรม

ในอำเภอเชียงดาวยังมี วิสาหกิจ ‘ม่วนใจ๋ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ เชียงดาว ที่มีบทบาทช่วยเผยแพร่ความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร และสร้างผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้แก่ผู้บริโภค โดยเปิดอบรมการทำเกษตรธรรมชาติ สอนการดำนาปลูกข้าว การหาจุลินทรีย์ในพื้นที่มาทำปุ๋ยให้กับพืช การดูแลรักษาป่าต้นน้ำที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม การอบรมแบบเน้นการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ผู้มาเรียนนำความรู้กลับไปทำด้วยตนเองได้

ด้านทิศใต้ของอำเภอเชียงดาวเป็นที่ตั้งของ ‘สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี’ ของแหม่ม-ศรัณยา กิตติคุณไพศาล เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากกรมการเกษตรให้เป็นศูนย์เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรประจำอำเภอเชียงดาว ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน รวมทั้งมีการจัดสรรแปลงเกษตรทดลองโดยไม่คิดมูลค่าให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองนับสิบครอบครัว ส่วนด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของ ‘ดาราดาเล’ ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์และการสร้างบ้านดิน และ ‘ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ซึ่งเน้นการส่งเสริมงานเกษตรรมให้แก่ชาวเขา

แปลงนาทดลองเกษตรอินทรีย์ ทุ่งกับดอย Learning Space

เรียนรู้ศิลปะหลากแขนง

พื้นที่การเรียนรู้แห่งแรกๆ ในอำเภอเชียงดาว ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคนนอกชุมชน คือ ‘มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เชียงดาว ของมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สะพานเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายกลุ่มให้มาพบปะกันผ่านการเสพงานศิลป์ เน้นการนำละครและสื่อมาใช้เป็นกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม บรรยากาศภายในอาร์ตสเปซกว้างขวางร่มรื่น มีโรงศิลปะร่วมสมัย โรงละคร ลานประติมากรรม บ้านศิลปิน ที่พักสำหรับผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป และคาเฟ่ที่พร้อมต้อนรับแขกขาจร

ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กล่าวว่า “พื้นที่มันสำคัญมากเลย พอใจมันเปิด เซนส์เปิด หัวใจมันได้ทำงาน …คุณจะเรียนอยู่ในพื้นที่แบบเดิมก็ได้ แต่คุณต้องพาตัวเองไปสนใจผู้อื่น ออกนอกโลกตัวเองบ้าง”

ณ จุดนี้เอง มะขามป้อมได้ทำกิจกรรมกับหมู่บ้านชนเผ่าปกาเกอะญอ และดาราอั้ง เพื่อเสริมพลังกลุ่มเยาวชนในชุมชนชาติพันธุ์ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนจากภายนอกมีความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม เพื่อกระชับรอยต่อและลบมายาคติระหว่างชนชั้น

โรงเรียนวิทยากรปีที่ 5 รุ่นที่ 1 “นักออกแบบการเรียนรู้ที่มีหัวใจ”
Photo : Makhampom Art Space

ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร ยังมีเพื่อนบ้านอีกหลังหนึ่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ อาคารสองหลังซึ่งถูกฉาบด้วยดินกลางทุ่งนาชวนให้จิตใจสงบเยือกเย็นของ ‘๗ Arts Inner Place’ ก่อตั้งโดย ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นักศิลปะบำบัด เป็นพื้นที่เรียนรู้ศิลปะเพื่อการเยียวยาตามแนวทางมานุษยปรัชญา (Anthroposophic art therapy) หมายถึงศิลปะที่อิงความสัมพันธ์ระหว่างกาย ใจ และจิตวิญญาณ เพื่อให้มนุษย์เติบโตไปได้อย่างสอดคล้องกับช่วงวัยและมีสุนทรียะในชีวิต

ครูมอสกล่าวว่า “ในมุมมองของเรา รู้สึกว่าบ้านนี้ให้ความอบอุ่นทางใจและพลังงานชีวิตที่ดีกับเรา แต่ในมุมมองที่เป็นนักศิลปะบําบัด ผู้รับการบำบัดเขาไม่ได้มองไปที่โลกภายนอก เขาไม่สามารถรับรู้ว่าโลกนี้ยังมีความงามอยู่ สิ่งสําคัญคือต้องทําให้เขาเห็นความงามนั้น เราจึงสร้างบ้านและสภาพแวดล้อมให้สวยงามและมีศิลปะ ถ้าวันหนึ่งเขาเงยหน้าขึ้นมา มองเห็นความสวยงามนั้นได้ เราก็มีความสุข”

นอกจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ในสตูดิโอแล้ว ครูมอส ยังมีบทบาทในการนำศิลปะไปใช้จัดกิจกรรมเพื่อการเยียวยาที่สถานศึกษาหลายแห่งในเชียงดาว เช่น โรงเรียนบ้านทุ่งละคร และบ้านมิตราทร (มูลนิธิอุบลรัตน์ในพระบรมราชินูปถัมภ์) ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าจาก HIV และเด็กที่ทารุณกรรม รวมทั้ง อบรมทักษะศิลปะบำบัดให้กับครูและบุคลากรการศึกษา

ส่วนผู้ที่ชื่นชอบงานคราฟท์ ประเภทงานย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ เช่น ครามซึ่งให้สีน้ำเงิน ลูกมะเกลือ ซึ่งให้สีเทาและสีน้ำตาล ดอกดาวเรืองซึ่งให้สีเหลือง และครั่งซึ่งให้สีแดงและสีชมพู ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของ สตูดิโอ เชียงดาว บลู ส่วนผู้ที่หลงใหลในศิลปะการทำอาหาร OLD.lab มีคลาสเก็บเกี่ยววัตถุดิบพื้นถิ่นและสอนทำเหล้าบ๊วย โกโก้ กาแฟ วานิลา และไซรัปต่างๆ

เรียนรู้เรื่องการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้

มูลนิธิสื่อชาวบ้าน นอกจากมีบทบาทในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านศิลปะแล้ว หลายปีที่ผ่านมายังทุ่มเททำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณถาพการศึกษาอีกด้วย การเรียนการสอนในโรงเรียนที่เน้นการท่องจำในตำราและไม่ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะอนาคตของผู้เรียน ทำให้ครูและนักการศึกษาจำนวนมากเดินทางมาที่ ‘มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เชียงดาว’ เพื่อเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในระบบการศึกษา ได้แก่ หลักสูตรโรงเรียนวิทยากรกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเรียนรู้นวัตกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) มหา’ลัยเถื่อน หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการไม่รับรอง กระบวนการเรียนรู้ของเครือข่ายผู้คนที่มีความกระหายใฝ่รู้ และอยากสร้างแนวทางการศึกษาในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องอิงกับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย กิจกรรมที่จัดขึ้นเน้นการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อสนุกๆ กับวิทยากรที่ไม่ต้องมีวุฒิครูแต่อย่างใด

กระบวนการเรียนรู้ที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เชียงดาว มีความเข้มข้น ท้าทาย แต่เพลิดเพลินจนเวลาหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการทดลองทำงานกับผู้คนในชุมชน การร่วมหัวจมท้ายกับทีมเพื่อทำโครงงานในเวลาอันจำกัด และการสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมิตรร่วมอุดมการณ์แบบไม่ยอมหลับยอมนอน ในอีกด้านหนึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ใช้โอกาสนี้ปลดเปลื้องภาระงานที่เคยแบกรับ ได้ผ่อนคลายแช่น้ำพุร้อนธรรมชาติ ปั่นจักรยานชมวิธีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นการชาร์จพลังเพื่อพร้อมกลับสู่โลกการทำงานอีกครั้ง

ในเชียงดาวยังมีผู้คนอีกหลายกลุ่มที่สนใจประเด็นด้านการศึกษา และได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโฮมสคูล เช่น โอ๊ค-คฑา มหากายี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ และ โรส-วริสรา มหากายี อดีตมิสเอเชีย 2531 ทั้งสองมองว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็น “การศึกษาที่ไร้ความรู้สึก” จึงตัดสินใจมาตั้งรกรากที่เชียงดาวเพื่อทำ ‘บ้านเรียนทางช้างเผือก’ ให้ลูกๆ ทั้ง 2 คน เป้าหมายของบ้านเรียนทางช้างเผือก มี 3 ข้อ คือใฝ่รู้ ใฝ่สำเร็จ และสร้างสรรค์ โดยยึดความรู้สึกของผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการกำหนดวิชาและสิ่งที่อยากเรียนรู้ในแต่ละวัน อาจเรียนยิงธนูเพื่อความตระหนักรู้ในตนเอง ทำความรู้จักหินสีซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องธรณีวิทยาและประวัติศาสตร์สงคราม เดินสำรวจธรรมชาติเพื่อเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวจนไกลออกไปถึงเรื่องจักรวาล หรือปลูกผักเลี้ยงไก่เพื่อเรียนรู้ความรักและความเมตตา

โอ๊คและโรส ยังได้ทำฟาร์มสเตย์ขนาดเล็ก ‘มาลาดาราดาษ’ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้จากธรรมชาติสู่งานมือ’ หรือ Life Skills School โดยทั้งสองคนได้สวมบทบาทกระบวนกร จัดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ห้องเรียนธรรมชาติ และขนมปังเปลี่ยนชีวิต

ห่างไกลออกไปบนภูเขา ยังมีโฮมสคูลอีกแห่งที่พร้อมเปิดรับมิตรสหายที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการศึกษา คือ ‘บ้านเรียนม่อนภูผาแดง’ ก่อตั้งโดย ครูภู-องอาจ เดชาอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และเจ้าของ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เชียงดาว’

เรื่องราวการเรียนรู้หลากสีสันในเชียงดาว เป็นมหากาพย์ที่มีตัวละครมากมายโลดแล่น ทั้งผู้คนในเชียงดาวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงถิ่นฐานบ้านเกิดให้น่าอยู่และเกิดความยั่งยืนในหลายมิติ และนักปฏิบัติจากนอกชุมชนที่ย้ายเข้ามาอาศัยในเชียงดาว ซึ่งมีความสนใจและความถนัดในด้านที่ต่างกันออกไป

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ มิได้ดำเนินไปโดยเอกเทศ ทว่าเกิดปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน กลายเป็นความริเริ่มใหม่ๆ ไม่รู้จบ เช่น มล-จิราวรรณ ได้ร่วมกับ มหา’ลัยเถื่อน เปิดสอน ‘วิชาถิ่นนิยม’ โดยมีป่าเชิงดอยนางอินเหลาและดอยหลวงเชียงดาว ร้านกาแฟฮกหลง และสวนเกษตรออร์แกนิค เป็นห้องเรียน ทั้งยังร่วมกับบ้านเรียนทางช้างเผือกในการจัด ‘Chiang Dao Classroom’ ห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อเชื่อมการเรียนรู้ที่เข้าใจและใส่ใจในความงามแห่งธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

ส่วนครูและนักการศึกษาที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซเชียงดาว ก็มักจะมีโอกาสเดินไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านเพื่อชมทุ่งน้ำนูนีนอย แม้ว่าเจ้าของบ้านจะไม่อยู่ก็ตาม รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ ก็มีการจับมือกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไล่ตั้งแต่การจัดกระบวนการเรียนรู้ การแบ่งปันพื้นที่การเกษตร การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร การจัดตั้งสหกรณ์ และการทำการตลาด เป็นต้น

องค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ของแหล่งเรียนรู้ในเชียงดาวก็คือ กระบวนการเรียนรู้เกือบทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม พลังจากธรรมชาติทำให้อายตนะต่างๆ ของมนุษย์เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ พร้อมช่วยผ่อนคลายและเยียวยาให้ชีวิตกลับมามีสมดุลอีกครั้ง

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้แหล่งเรียนรู้ที่เชียงดาวมีเสน่ห์ และตอบข้อสงสัยของหลายคนได้ว่า ทำไมไม่เรียนรู้ในกรุงเทพฯ หรือเมืองเชียงใหม่ แต่ต้องเดินทางมาไกลถึงเพียงนี้


ที่มา:

ค่ายเยาวชนเชียงดาว เยียวยาอาการขาดธรรมชาติ [online]
‘ทุ่งกับดอย’ แปลงทดลองเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชน [online]
พื้นที่การเรียนรู้กลางทุ่งนาชื่อว่า มะขามป้อม ART SPACE [online]
บ้านดิน ศิลปะและธรรมชาติบำบัด [online]
เว็บไซต์ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน [online]
เฟซบุ๊ก Mon Jirawan [online]
เฟซบุ๊ก Nunienoi [online]
Cover Photo: ค่าเยาวชนเชียงดาว/นิคม พุทธา


ต้นฉบับของเรื่อง: The Kommon