21 กันยายน 2564 มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เปิดเวทีชี้แจงโครงการพัฒนาจุดจัดการ(node)เพื่อขยายผลชุดความรู้สุขภาวะในพื้นที่อำเภอชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายองค์ความรู้ พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนเชียงดาว เน้นเรื่องสุขภาวะ ในกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ และภาวะโภชนาการเด็กเล็กในพื้นที่อำเภอเชียงดาว โดยได้รับทุนจากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ฉัตรเทพ เพิ่มทรัพย์ ปลัดอาวุโสอำเภอเชียงดาว เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า ปัญหาเรื่องสุขภาวะโภชนาการในเด็กเล็กนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะจะส่งผลทั้งทางร่างกาย สมอง สติปัญญา ของเด็กที่จะเติบโตเป็นกำลังของประเทศในอนาคต ส่วนกลุ่มผู้สูงวัย ก็จะมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว จึงอาจถือได้ว่าเป็นภาระรับผิดชอบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาโภชนาการในเด็ก ให้เด็กได้รับสารอาหาร สุขลักษณะ ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ผู้สูงวัย ผู้พิการ มีสุขภาวะ มีกายแข็งแรง มีใจที่เป็นสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งต้องเกิดจากความจริงจัง ใส่ใจ และจริงใจ ของพวกเราทุกฝ่าย ได้ร่วมกันถอดบทเรียน องค์ความรู้ในครั้งนี้ ให้บรรลุตามความต้องการ โดยเป็นการสร้างภาคีของชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งๆ ขึ้น” ปลัดอาวุโสอำเภอเชียงดาว กล่าว
ในการเสวนาเรื่อง “ออกแบบเมืองในฝันจากการมีส่วนร่วมของทุกคน” พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อล่าสุด ทางยูเนสโก ได้มีการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่ชีวภาพมณฑลแห่งใหม่ของโลก ซึ่งทำให้เราอยากให้เชียงดาวเป็นเมืองในฝัน กันมากขึ้น ว่าทำอย่างไรถึงจะให้เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบการพัฒนาเมือง พัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน ซึ่งเราคาดหวังไว้ว่า เราจะร่วมกันสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาร่วมกันออกแบบพื้นที่ร่วมกัน ให้แก่เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัยร่วมกัน
“เหมือนที่ทางยูเนสโกได้วางคุณสมบัติของเมืองแห่งการเรียนรู้(Key Features of Learning Cities) มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการดังนี้คือ 1. ประโยชน์หลักจากการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ 3 ประการ ได้แก่ ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและการรวมกลุ่มทางสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2. คุณลักษณะสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 6 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน การอำนวยความสะดวกให้มีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำงาน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ทันสมัย การส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ และการสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง และ 3. เงื่อนไขสำคัญที่เป็นพื้นฐานการสร้างเมืองแห่งความรู้ 3 ประการ ได้แก่ ความมุ่งมั่น และความเข้มแข็งของผู้นำการบริหารเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการเคลื่อนย้าย และการใช้ทรัพยากร” เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้านฯ กล่าว
ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ยังได้แสดงวีดีทัศน์ เรื่อง Universal Design (UD) : การออกแบบเพื่อทุกคน โดย รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การออกแบบเพื่อทุกคนเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถใช้งานได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านร่างกายและอายุ สำหรับรายละเอียดเนื้อหาที่จะกล่าวถึงในรายวิชานี้จะบรรยายเกี่ยวกับความเป็นมา และความสำคัญของการออกแบบเพื่อทุกคน หลักของการออกแบบ เกณฑ์การออกแบบ การนำหลักการ UD ไปประยุกต์ใช้กับสถาปัตย์ การออกแบบ UD นี้ไม่ใช่เพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ เท่านั้น การออกแบบดังกล่าวยังเหมาะสมกับคนท้อง เด็ก คนป่วย ฯลฯ อีกด้วย
ปัญหาเรื่องโภชนาการในเด็กเล็ก และปัญหาการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ ถือเป็นปัญหาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากไม่มีการจัดการดีพอ
ภัทรภร เกิดจังหวัด หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการ(node)เพื่อขยายผลชุดความรู้สุขภาวะในพื้นที่อำเภอชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาเรื่องโภชนาการในเด็กเล็ก และปัญหาการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ นับว่าเป็นปัญหาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และหากไม่มีการจัดการแก้ปัญหาที่ดีพอ ปัญหาเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่นเดียวกับที่อำเภอเชียงดาว ตัวเลขผู้สูงอายุจากจำนวนประชากรในพื้นที่ก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้น รวมทั้งจำนวนเด็กเล็กในชุมชนก็เพิ่มมากขึ้น และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ในฐานะองค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เห็นถึงความจำเป็นที่จะขยายองค์ความรู้ในทั้ง 2 เรื่องนี้ในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึง องค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยผ่านจุดจัดการ(Node) ที่สามารถขยายองค์ความรู้และมีการติดตามผลเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายผลจากองค์ความรู้ของศูนย์การเรียนผสานกับศักยภาพของชุมชนที่ต้นทุนเดิมของพื้นที่ ยิ่งจะเป็นการส่งเสริมโอกาสให้เกิดความสำเร็จที่จะทำให้ชุมชนมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลเรื่องสถานการณ์ด้านโภชนาการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่อำเภอเชียงดาว มีทั้งหมด 42 ศูนย์ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล 6 แห่ง และเทศบาลตำบล 36 แห่ง พบว่า ลักษณะปัญหาด้านโภชนาการในเด็กปฐมวัยในพื้นที่มีความหลากหลาย มีทั้งเด็กอ้วน เด็กผอม (น้ำหนักเกินเกณฑ์ และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์) คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ บางคนมีลักษณะอาการฟันผุรวมอยู่ด้วย อันเนื่องมาจากสาเหตุที่ผู้ปกครองห่อขนมและนมรสหวานมาให้เด็กกิน ในขณะที่โรงเรียน ยังมีวิธีการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบการประมูลเสนอราคาโดยมีผู้ประกอบการมาจากภายนอก ซึ่งความรับผิดชอบในการกำหนดเมนูอาหาร รวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ เป็นบทบาทของผู้ประกอบการทั้งหมด ดังนั้นการทำงานเพื่อพัฒนาและปรับปรุงลักษณะอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ นอกจากต้องอาศัยข้อกำหนดเชิงนโยบายขององค์กรต้นสังกัดที่ดูแลเรื่องนี้แล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการผู้จัดหาเมนูอาหาร รวมทั้งการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างคุณครูกับผู้ปกครองเพื่อช่วยกันกำหนดปัจจัยโภชนาการของเด็กๆ ให้สอดคล้องกันทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านคู่ขนานกันไปด้วย
“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานต้นสังกัดในบางพื้นที่เทศบาลและ อบต.มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งจากการที่เราลงไปสัมภาษณ์พูดคุยในแต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ พบว่า มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเชียงดาวเพียงแห่งเดียวในอำเภอเชียงดาวที่ประกอบอาหารโดยใช้โปรแกรมโครงการ Thai School Lunch และมีความริเริ่มในการชักชวนเจ้าหน้าที่โภชนาการอาหารจากโรงพยาบาลเชียงดาวมาช่วยให้ความรู้กับผู้ปกครองของเด็กในชุมชนเป็นเบื้องต้น แต่นอกเหนือจากนั้น ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เหลืออีก 40 กว่าแห่ง จาก 9 พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีข้อมูลรายงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงอาหารและพัฒนาโภชนาการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากนัก ดังนั้น จึงได้ดำเนินโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการขยายชุดความรู้โภชนาการปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนี้ขึ้นมา โดยได้เลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมโครงการ และสามารถที่จะพัฒนาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลไปยังตำบลอื่นๆ ได้ต่อไป” หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการ(node)เพื่อขยายผลชุดความรู้สุขภาวะ ในพื้นที่อำเภอชียงดาว กล่าว
สอดคล้องกับที่ รัชนก แข็งแรง นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปางมะเยา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกเล่าสถานการณ์ให้ฟังว่า ที่ผ่านมา ทาง รพ.สต.ปางมะเยา ก็ได้ติดตามภาวะโภชนาการในเด็กแต่ละโรงเรียน ซึ่งก็มีประเมินตามดัชนีชี้วัด พบว่า นอกจากจะเจอปัญหาเรื่องเด็กอ้วน เด็กผอมแล้ว เรายังพบเด็กเตี้ย จำนวน 20 คนอีกด้วย
“จึงได้เสนอของบประมาณ 2565 ผ่านทางเทศบาลตำบลปิงโค้ง เพื่อร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหา ภาวะเด็กเตี้ย ว่าทำไมถึงไม่สูง หรือเป็นเพราะว่าเด็กขาดสารอาหารอะไรหรือเปล่า โดยเราได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ โดยมีการเสริมนม ไข่ ให้กับเด็กกลุ่มนี้ที่บ้าน ในระยะเวลา 6 เดือน โดย สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้กับเด็กที่มีปัญหาจริงๆ และจะติดตามผลที่บ้าน นอกเหนือจาก โรงเรียน ว่าหลังจากเราเสริมนม ไข่ที่บ้าน แล้วภาวะโภชนาการจะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากครบ 6 เดือน ก็จะมีการประเมินผลกันอีกครั้งหนึ่ง” รัชนก กล่าว
ภัทรภร กล่าวเสริมต่อเรื่องนี้ว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และเราคิดว่าโครงการนี้ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อขยายผลชุดความรู้สุขภาวะได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์ เพราะเรามีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จสำหรับชุดความรู้โภชนาการในศูนย์เด็กเล็กนี้ได้ เพราะจากการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นต้นทุนเดิมในพื้นที่ ผสานกับโอกาสที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ คือ มีกลุ่มครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สนใจและมีศักยภาพ เห็นความเชื่อมโยงและอยากเติมความรู้นี้เพื่อพัฒนาตัวเองในศูนย์เด็กเล็กต่อไป อีกทั้งยังมีหมอ นักพัฒนาการเด็กและเวชศาสตร์ครองครัวที่สนใจเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานนี้ไปด้วยกันด้วย
“มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) จะเป็นผู้ประสานเป็นตัวกลาง เชื่อมความรู้กับคนทำงานในพื้นที่เข้าด้วยกัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยได้ดึงแนวร่วมคนทำงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับราชการ จนถึงภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเมืองเชียงดาวไปด้วยกัน และครั้งนี้เราได้แนวร่วมการทำงานกับเครือข่ายสุขภาพ ทั้งทางโรงพยาบาลเชียงดาว และสาธารณสุขอำเภอ ร่วมถึงได้แนวร่วมแกนนำระดับท้องถิ่นมาร่วมทีมกันด้วย” ภัทรภร กล่าว
เชียงดาว มีแนวโน้มผู้สูงวัย คนพิการ เพิ่มขึ้นมาก หวั่นกระทบงบดูแลค่าใช้จ่ายในการดูแลและระบบสาธารณสุข
จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรในอำเภอเชียงดาว มีผู้สูงอายุ จำนวน 5744 คน คนพิการ 497 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยเรื้อรังและเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1753 คน และ 114 คน ซึ่งมีแนวโน้มว่าประชากรพื้นที่อำเภอเชียงดาว มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ภายในปี 2568 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จากข้อมูลเหล่านี้ แสดงให้เห็นประเด็นข้อกังวลนอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลจะเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาเรื่องการเตรียมความพร้อมในด้านการให้ความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุที่มีอาการติดเตียง คนพิการ เป็นต้น
ที่ผ่านมา ในอำเภอเชียงดาว มีการนำร่องปรับสภาพบ้านคนพิการและผู้สูงอายุไปแล้วจำนวน 2 หลัง ในพื้นที่ตำบลทุ่งข้าวพวง โดยใช้วิธีการระดมทรัพยากรร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่เป็นหลัก หน่วยงานสาธาธารณสุขอำเภอ และอสม.ขอรับบริจาควัสดุก่อสร้างที่จำเป็นมาปรับสภาพบ้าน จากร้านค้าวัสดุ ผู้ประกอบในพื้นที่ จากนั้น ขอให้นายช่างโยธาและอาสาสมัครทหารกองหนุนลงแรงเพื่อช่วยกันปรับปรุงสภาพอาคารให้แก่คนพิการและผู้สูงวัย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ว่าการปรับปรุงสภาพบ้านจะไม่ได้มีองค์ความรู้ที่ชัดเจน อาศัยเพียงความเชี่ยวชาญจากฝ่ายสาธารณสุขอำเภอและความชำนาญด้านการก่อสร้างจากนายช่างโยธาเท่านั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการปรับสภาพบ้านคนพิการและผู้สูงวัย ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ได้ดำเนินการมากันบ้างแล้ว แต่ยังขาดเพียงความรู้ด้านการหาแหล่งงบประมาณและการขับเคลื่อนนโยบายเพียงเท่านั้น
ประเด็นปัญหาที่พบ งบบริหารจัดการงบปรับปรุงบ้านติดขัด ยังไม่ได้รับการถ่ายโอน รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่สามารถตั้งงบเบิกจ่ายในการปรับปรุงบ้านได้
ลภัสรดา รติกันยากร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลปิงโค้ง ก็พยายามมีการบูรณาการในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลกลุ่มผู้สูงวัย และคนพิการ แต่กรณีเรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซึ่งจะอยู่นอกเรื่องในส่วนการของบประมาณท้องถิ่นมีงบ แต่การของบประมาณทั่วไปได้ต้องให้ชุมชนเสนอแผนท้องถิ่นเข้าสู่เทศบัญญัติ แต่กรณีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยนี้ ไม่ใช่บทบาทหลักของท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ประสานไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผ่านทาง พม.จังหวัด เพราะมีงบประมาณจังหวัด 1 หลังไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งงบประมาณตัวนี้ ยังไม่ถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น ดังนั้น ท้องถิ่นจะติดระเบียบเบิกจ่ายและอำนาจหน้าที่ตรงนี้อยู่
ในขณะที่ บุญญฉัตร ใสแจ่ม นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ เทศบาลตำบลเมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกเล่าว่า ที่ผ่านมา ทางเทศบาลตำบลเมืองนะ ก็พยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือกลุ่มเป้าหมาย คนสูงวัย และคนพิการ บางรายนั้นไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งระบบราชการไม่สามารถตั้งงบเบิกจ่ายช่วยเหลือปรับปรุงบ้านได้ ก็พยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยการประกาศขอรับบริจาควัสดุจำพวก ปูน เหล็ก บล็อก หิน ดินทราย จากร้านค้าวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ แล้วขอทีมช่าง อสม.ชาวบ้าน ระดมช่วยกันปรับปรุงผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการฯ กล่าวว่า เราจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อขยายองค์ความรู้สุขภาวะเรื่องโภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก และ องค์ความรู้การปรับสภาพบ้านสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุโดยท้องถิ่น โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ดำเนินการได้ และเพื่อพัฒนาจุดจัดการ (NODE) ทําให้ผู้นําการเปลี่ยนแปลง ในแต่ละชุดความรู้ สามารถใช้ความรู้ที่ได้รับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้านสุขภาวะของคนในชุมชน อีกทั้งเพื่อสังเคราะห์บทเรียนร่วมของจุดจัดการ องค์กรภาคี และผู้นําการเปลี่ยนแปลง
“โดยรูปแบบการดำเนินงานนั้น ทางมูลนิธิสื่อชาวบ้าน จะเป็นผู้ประสานงาน เป็นตัวเชื่อมนำเจ้าของชุดความรู้ มาพูดคุยถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรในพื้นที่ในชุมชน ซึ่งเราจะมีอาจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหลักสูตร โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตร การปรับสภาพบ้านสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุโดยท้องถิ่น จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลปะ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งผ่านงานวิจัยและทดลองนำร่องไปในหลายๆ พื้นที่แล้วประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี” หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการฯ กล่าว
จุดเด่นและผลลัพธ์ของโครงการ สร้างแกนนำ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง ยั่งยืนในพื้นที่ ถอดโมเดล เพื่อขยายผลต่อไปได้
หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการฯ กล่าวอีกว่า คาดว่าโครงการนี้ในระยะสั้น น่าจะเกิดการนำชุดความรู้ในชุมชนใน 2 ชุดความรู้ โดยทำงานร่วมกันกับเครือข่ายในพื้นที่ อีกทั้งจะเกิดแกนนำในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปปรับใช้ใช้ความรู้ความเพื่อสร้างโภชนาการที่สมวัยในชุมชน และจะเกิดแกนนำคนทำงาน ผู้นำนำความรู้ไปใช้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนพิการและผู้สูงอายุในชุมชน
“ในระยะกลาง เราคิดว่าจะเกิด Change Agent ที่สามารถนำความรู้ขยายผลชุดความรู้สุขภาวะไปขยายเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ ในชุมชน ได้ รวมทั้งทำให้เกิดแนวทางกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในระยะยาว เราคาดว่าจะเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่มีโอกาสเข้าถึงชุดความรู้ของสุขภาวะ เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กมีโภชนาการที่ดีขึ้น ผู้พิการและผู้สูงอายุมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเกิดกระบวนการ จัดการระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมต่อไปได้” หัวหน้าโครงการพัฒนาจุดจัดการฯ กล่าว
พิชญาสินี กองดวง นักกิจกรรมบำบัดปฏิบัติการ โรงพยาบาลเชียงดาว กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองทำงานกับคนพิการ ก็มีความคาดหวังไว้ว่า การเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว น่าจะได้องค์ความรู้เรื่องการปรับโมเดลการจัดสภาพบ้านให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่คนพิการได้ในอนาคต
เช่นเดียวกับ ละเอียด ใจมา นักโภชนาการ โรงพยาบาลเชียงดาว ก็กล่าวว่า จริงๆ โรงพยาบาล นั้นถือเป็นจุดรองรับ ซึ่งเราถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถ้าหากทางโครงการนี้ได้เข้าหนุนเสริมการจัดการโภชนาการเด็กในแต่ละโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาภาระนี้ได้มากยิ่งขึ้น การเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งก็คาดว่า จะช่วยให้เรามีโมเดล ที่เป็นภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กิจกรรมจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปช อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อประชุมชี้แจงทำความเข้าใจร่วม กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณะสุข นักโภชนาการ ผู้นำชุมชน แกนนำในชุมนุม อาสาสมัครในชุมชน ครูศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ แกนนำชุมชน เป็นต้น เพื่อร่วมรับรู้และร่วมมือวางแผนขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
หลังจากนั้น จะมีกิจกรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการใน 2 องค์ความรู้สุขภาวะ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ กับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นชุดความรู้นั้น และสร้างแกนนำและแผนปฏิบัติการขยายองค์ความรู้สุขภาวะในชุมชนโดยแยกการอบรมเป็น 2 ชุดความรู้ คือ หลักสูตร โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก และหลักสูตร การปรับสภาพบ้านสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุโดยท้องถิ่น โดยจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปช อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมในทั้ง 7 ตำบล โดยมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ที่เป็นทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่งานสวัสดิการ งานพัฒนาชุมชน งานสาธารณสุข ช่างโยธา นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักวิชาการด้านสาธารณสุข รวมไปถึงแกนนำชุมชน เช่น แกนนำคนพิการ อาสาสมัครชุมชน กลุ่ม/ชมรมในพื้นที่ ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมรับการอบรมในครั้งนี้
และกิจกรรมสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเวทีถอดบทเรียน พื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของทั้ง 2 ชุดความรู้ ท่ามกลางการปฏิบัติงานที่คนทำงานได้เผชิญกับปัญหา การแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์แนวทางการทำงานใหม่ๆ อะไรคือ ความรู้ปฏิบัติ (Tacit knowledge) ที่คนทำงานสามารถสกัดขึ้นมาจากการทำงาน ผลลัพธ์จากพื้นที่ที่ทำงานประสบความสำเร็จ เกิดผลการเปลี่ยนแปลง (Change) สุขภาวะได้อย่างเป็นรูปธรรมมีแนวโน้มที่มีความต่อเนื่องหรือยั่งยืนในพื้นที่สกัดความรู้ ถอดโมเดล (Model) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลการทำงานต่อไปได้
สำหรับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นองค์กรที่เสริมพลังภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้ทำงานในอำเภอเชียงดาวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี ด้วยประเด็นต่างๆ เช่น การจัดการความขัดแย้ง, การทำงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ, ห้องเรียนประชาธิปไตย, ความเท่าเทียมเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ,การศึกษาเพื่อการปลดปล่อย, สุขภาพชุมชน, การส่งเสริมการรักการอ่าน รวมทั้งกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน เป็นต้น
โดยองค์กรมีหลักในการทำงานโดยใช้แนวคิด Community-based Participatory Research มาเป็นวิธีการดำเนินงาน CBR โดยมีหลักคิดในการดำเนินงานประกอบด้วย 1.ชุมชนไม่ใช่แก้วน้ำที่ว่างเปล่า แต่ละชุมชนมีความเป็นมา และมีเอกลักษณ์เฉพาะ (community as a unit of identity) 2.พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและทรัพยากรต่างๆในชุมชน 3.สนับสนุนให้เกิดความ “เท่าเทียมกัน” ของสมาชิกในชุมชนในทุกระยะของการวิจัย 4.สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน 5.ต้องมีความสมดุลระหว่างการทำให้เกิดความรู้ใหม่ของชุมชนและงานวิจัยจากชุมชน 6.มุ่งไปที่การแก้ปัญหาของชุมชนนั้นๆ ซึ่งปัญหาอาจจะมีความแตกต่างกันกับชุมชนอื่นๆ 7.ใช้กระบวนการทำซ้ำ 8.สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของการใช้ความรู้ในชุมชน และความรู้นอกชุมชน 9.ทำให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ โดยการดำเนินงานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน
เรื่อง: องอาจ เดชา
ที่มา: ประชาไท