งานละคร

ละคร คือเครื่องมือหลักในการทำงานของมะขามป้อม จากประสบการณ์ยาวนานที่ผ่านมา พวกเราได้พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาเครื่องมือละคร แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันเราใช้ละครใน 2 มิติ คือกระบวนการละคร (Process) และสื่อละคร (Production) โดยมีเป้าหมายเพื่อ พัฒนาผู้เล่น พัฒนาผู้ชมและพัฒนาสังคม

ละครถกแถลง ( Dialogue Theatre )

เกิดจากแนวคิดการผสานศาสตร์ของการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และศิลปะการละครเข้าไว้ด้วยกัน ใช้โรงละครเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเฉพาะประเด็นท้าทาย อ่อนไหวและยากต่อการนำเสนอในที่สาธารณะ ใช้ละครเป็นเครื่องมือในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ใช้ตัวละครในการเชิญชวนและยั่วยุให้ความคิดความเชื่อที่แตกต่างได้แสดงตัวตน นำพาผู้ชมไปสู่การทำความเข้าใจความแตกต่างอย่างลึกซึ้ง และมีส่วนร่วมกับการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งอย่าง มีชีวิตชีวา

ละครถกแถลงคือ การนำเสนอปัญหาความขัดแย้งทีเกิดขึ้นจริง บนโลกเสมือน ตัวละครถอดแบบมาจากคนจริงๆ แต่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การถกแถลงหลังละคร จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากการโต้แย้งกันในเรื่องของบุคคลที่สาม ให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้งโดยตรง เมื่อผู้ชมรู้สึกปลอดภัย จะลดกำแพงลง สามารถรับฟัง ทำความเข้าใจผู้อื่นได้และนำมาสู่การคลี่คลายความขัดแย้งในที่สุด

การแสดงละครถกแถลง นักแสดงต้องสวมบทบาทตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งในช่วงละครและช่วงถกแถลง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ทักษะการแสดง เป็นเครื่องมือสำคัญของนักแสดง ในการทำความเข้าใจ และ “อิน” กับการเป็นตัวละครผ่านการใช้ร่างกาย การแสดงที่สมบทบาท ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกร่วมกับเรื่องราว ความเศร้าโศก ความอึดอัด ความสับสน ความรู้สึกต่างๆ ของนักแสดงจะถูกถ่ายทอดสู่ผู้ชมและสร้างความสั่นสะเทือนในจิตใจ ส่งผลให้ผู้ชมอยากมีส่วนร่วมในการพูดคุยหาทางออกให้ตัวละครในช่วงถกแถลงมากขึ้น

ละครหุ่น

เป็นหนึ่งในเครื่องมือละครเพื่อการพัฒนาของมะขามป้อม ละครหุ่นมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นมือ หุ่นเงา หุ่นสร้างสรรค์จากของเหลือใช้ หุ่นยักษ์ ฯลฯ ผลงานการแสดงละครหุ่นของมะขามป้อม ได้รับการยอมรับในระดับสากล มักได้รับเชิญไปแสดงในงานเทศกาลนานาชาติเสมอ นอกจากผลิตละครหุ่นเองแล้ว มะขามป้อมยังมีหลักสูตรการอบรมละครหุ่นประเภทต่างๆด้วย

ละครกายกรรม

หมู่บ้านปางแดง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ชาวดาราอาง อยู่ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านนี้ประสบกับปัญหาทับซ้อนหลายอย่าง เด็กๆที่นี่ทั้งหมดเกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ฐานะยากจน สภาพชีวิตลำบาก ไม่มีที่ดินทำกิน ทำงานรับจ้างรายวัน มะขามป้อมใช้กระบวนการละครและศิลปะหลายรูปแบบ ทำงานกับชุมชนนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เด็กๆ ทุกคนในหมู่บ้านปางแดงเมื่อขึ้นชั้น ป.3 จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนกายกรรม เราจัดการศึกษาแบบทางเลือกอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งหลังเลิกเรียน หลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนแบ่งเป็น 3 ฐาน คือมือ สมองและหัวใจ เด็กๆทุกคนจะได้ฝึกฝนทักษะการแสดงประเภทต่างๆ ฝึกฝนกายกรรม ฝีกฝนทักษะการเป็นวิทยากร เรียนภาษาอังกฤษ ฝึกการบริหารจัดการกลุ่ม ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย และทำความเข้าใจปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ เป้าหมายหลักของเด็กๆ

การผลิตละครประจำปี เพื่อสื่อสารเรื่องราวของชาวดาราอางให้สังคมได้รับรู้ ในปี 2553 เด็กๆรุ่นแรก นำละครไปแสดงในกรุงเทพ เพื่อระดมทุนซื้อที่ดินและย้ายหมู่บ้านใหม่ หลังจากนั้นเด็กๆแต่ละรุ่น จะตั้งเป้าหมายในการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆในชุมชน

โรงเรียนกายกรรม เชิญชวนผู้ที่สนใจมาเป็นครูอาสาสมัคร ฝึกสอนกายกรรมและละครจากทั้งในและต่างประเทศ และเชิญร่วมบริจาคอุปกรณ์กายกรรม หรือบริจาคเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์กายกรรมบางส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้เองในท้องถิ่น (อุปกรณ์ที่ต้องการคือ คือเบาะสำหรับฝึกยิมนาสติก ผ้าสำหรับโหน พอย ลูกบอลและจักรยานล้อเดียว)

ละครร่วมสมัย

บทละครและรูปแบบการแสดง ได้รับการขัดเกลาให้มีความงาม สุนทรียทางศิลปะ ส่วนใหญ่จะรับบทบาทโดยนักแสดงของมะขามป้อม ละครร่วมสมัย มีเป้าหมายหลักในการสื่อสารประเด็นทางสังคมกับผู้ชมสร้างความสั่นสะเทือนทางอารมณ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกร่วมกับเรื่องราว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต